จับตา กลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ความหวังรายได้ท่องเที่ยวไทย
หลังจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ออกมาประกาศหั่นรายได้ภาคการท่องเที่ยวปี 2562 ลงเหลือ 3.38 ล้านล้านบาท หรือปรับลดลงราว 20,000 ล้านบาท จากเดิม 3.4 ล้านล้านบาทนั้น ก็ด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกหลายประการ อาทิ สงครามการค้าระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ จีน และ สหรัฐ ที่ยังยืดเยื้อ ราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และ บาทแข็งค่า ทำให้ทาง ททท. ต้องปรับกลยุทธ์ดำเนินงานขนานใหญ่ หันมาเจาะกลุ่ม นักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่มีรายได้มากกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐ ต่อปี หรือ มากกว่า 1,860,000 บาท
โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักที่มีการใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่หลักหมื่นบาทปลายๆ ไปจนถึงหลักล้านบาท มักจะเดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ของไทย หรือที่เรียกว่า Medical Tourism ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ชาวต่างชาติสนใจเข้าใช้บริการทางการแพทย์ของไทย นั้นก็คือ ความเชี่ยวชาญของแพทย์ไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก บริการดีเยี่ยมด้วยรอยยิ้มสยาม ราคาไม่แพงเมื่อเทียบประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้ง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามเหมาะกับการพักฟื้น และ ค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ของไทยมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “จีน” และส่วนใหญ่จะเข้ารับการรักษาผู้มีลูกยาก หรือ IVF ซึ่ง Sanook! Money ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.พุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Inspire IVF ถึงสาเหตุที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางเข้ามารับการรักษาผู้มีลูกยาก (IVF) ในไทย
ไทยส้มหล่น IVF คลินิกเฉพาะทาง บูมหนัก !! หลังจีนปลดล็อกกฎหมายมีลูกได้ 2 คน
นพ.พุฒิพงศ์ เล่าถึงสาเหตุที่รัฐบาลจีนปลดล็อกกฎหมายให้ครอบครัวมีลูกได้ 2 คน ว่า เมื่อ 2-3 ปีก่อน จีนประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เพราะคนจีนวัยทำงานเป็นกำลังหลักผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวมากขึ้น ทำให้การมีลูกน้อยลง การปลดล็อกกฎหมายให้มีลูกคน 2 ได้นั้นเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลจีนต้องการเพิ่มจำนวนประชากรในวัยทำงานหลังอัตราการเกิดลดลงส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในที่สุด
ส่วนสาเหตุที่ไทยได้รับอานิสงส์เรื่องการมีลูกคนที่ 2 ของจีนนั้น นพ.พุฒิพงศ์ บอกว่า ประเทศจีนมีสถานพยาบาลที่รักษาคนมีลูกยากอยู่แล้ว แต่ความต้องการล้นตลาดทำให้คิวยาวจนล้นออกนอกประเทศ คนจีนจึงมองหาสถานพยาบาล หรือคลินิกรักษาคนมีลูกยากในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ 3 ประเทศหลักที่ต่างชาติเชื่อมั่นในระบบการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้
- สหรัฐอเมริกา ค่ารักษา 800,000 – 1,000,000 บาท
- ไทย – ค่ารักษา 400,000 – 500,000 บาท
- รัสเซีย – ค่ารักษา 300,000 บาท
ดังนั้น ไทยจึงเป็นเบอร์ต้นๆ ที่ต่างชาติรวมถึงชาวจีนเลือกที่จะเข้ารับการรักษาผู้มีลูกยาก (IVF)
Inspire IVF คลินิกรักษาผู้มีบุตรยากกับความต่างเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
Inspire IVF เป็นหนึ่งในคลินิกเฉพาะทางให้บริการสำหรับผู้มีลูกยาก ย่านเพลินจิต เปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ใช้งบลงทุนมากถึง 90 ล้านบาท โดยจุดเด่นของ Inspire IVF อยู่ที่บุคลากรที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จโดยมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแพทย์เฉพาะด้าน IVF และทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ในระดับนานาชาติ
นพ.พุฒิพงศ์ บอกว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาผู้มีลูกยากให้ประสบความสำเร็จได้ อยู่ที่ห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนที่ทันสมัยได้มาตรฐาน รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ตรวจพันธุกรรม โดยใช้เงินลงทุน 50 ล้านบาท จากทั้งหมด 90 ล้านบาท เพราะมองว่าห้องปฏิบัติการดังกล่าวเป็นตัวช่วยให้มีโอกาสสำเร็จสูงขึ้น
“ถ้าห้องเลี้ยงตัวอ่อนไม่ดี เก็บมาเลี้ยงก็ตายหมด คล้ายๆ ห้องเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่ง 98% ไข่ผสมกับน้ำเชื้อจะฟักออกมาเป็นตัว กระบวนการแช่แข็งละลายตัวอ่อนก็สำคัญ” นพ.พุฒิพงศ์ กล่าว
ส่วนการให้บริการของ Inspire IVF นพ.พุฒิพงศ์ เล่าว่าแบ่งเป็น 2 แบบหลัก และ 1 บริการเสริม เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มคนไข้ที่มีความต้องการแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- บริการสำหรับกลุ่มคนที่มีลูกยาก
- บริการสำหรับคู่ที่ยังไม่พร้อมจะแต่งงานแต่วางแผนมีอนาคต แบ่งได้ 2 ส่วน
• ฝากไข่-น้ำเชื้อ (ยังไม่แต่งงาน)
• ฝากตัวอ่อน (แต่งงานแล้ว) แต่ยังไม่ตั้งท้อง เมื่อพร้อมจะเอาตัวอ่อนใส่ในท้องแล้วตั้งครรภ์ได้เลย - บริการตรวจพันธุกรรม เพื่อป้องกันความเสี่ยงลูกพิการ
คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก (IVF) กองหนุนสำคัญดันการท่องเที่ยวไทยให้บูม
ปัจจุบัน Inspire IVF มีกลุ่มคนไข้ที่เป็นชาวต่างชาติราว 80% โดยแบ่งเป็นคนจีนและคนอินเดียอย่างละ 50% ที่พร้อมตั้งครรภ์เข้ามารับบริการทันที ขณะที่คนไทยนั้นแม้จะมีเข้ามารับบริการบ้าง โดยเริ่มที่จะฝากไข่-น้ำเชื้อบ้างแต่ก็ถือว่าน้อยอยู่ เพราะคนไข้หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าสามารถฝากไข่-น้ำเชื้อได้ถึง 20 ปี
สำหรับผู้เข้ารับบริการรักษาคนมีลูกยากขณะนี้มีจำนวน 20 เคสต่อเดือน คาดว่าปลายปีจะมีจำนวนผู้เข้ารับบริการเพิ่มขึ้นเป็น 40 เคสต่อเดือน และประเมินว่าภายในปีนี้จะมีผู้เข้ารับบริการราว 50 เคสต่อเดือน พร้อมเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) ว่า ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1.55 ล้านล้านบาท โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยถึง 19.6 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนยังมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย และยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางเข้าไทยสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.8 แสนคน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อครั้งเฉลี่ยราว 50,000 บาทต่อคนต่อครั้ง สูงค่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั่วไปที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 45,000 บาทต่อคน โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียมีอัตราการเติบโตตลาดเฉพาะกลุ่มสูง อาทิ กลุ่มท่องเที่ยวสุขภาพ, กลุ่มคู่รักหลังแต่งงาน และ กลุ่มถ่ายทำภาพยนต์
หากพูดถึงภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาที่ไทย เพื่อเข้ารับการรักษา IVF นพ.พุฒิพงศ์ มองว่า แต่ละปีจะมีชาวต่างชาติเข้ารับการรักษาที่ 80,000 คู่ ซึ่งถือว่ายังน้อยหากเทียบกับความต้องการมีลูกของชาวจีนที่มีอยู่เป็นล้านคู่
ดังนั้น อุตสาหกรรมด้านการแพทย์ของไทยโดยเฉพาะการรักษาผู้มีบุตรยาก (IVF) จึงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี หากภาครัฐร่วมกันส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) อย่างจริงจัง จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศต่อปีได้อย่างมหาศาลนับแสนล้านบาทเลยทีเดียว
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ