One Bangkok อภิมหาโครงการมิกซ์ยูสมูลค่า 1.2 แสนล้าน เขย่าแลนด์มาร์คใหม่ของโลก

One Bangkok อภิมหาโครงการมิกซ์ยูสมูลค่า 1.2 แสนล้าน เขย่าแลนด์มาร์คใหม่ของโลก

One Bangkok อภิมหาโครงการมิกซ์ยูสมูลค่า 1.2 แสนล้าน เขย่าแลนด์มาร์คใหม่ของโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประกาศลุยโครงการ วัน แบงค็อก (One Bangkok) อสังหาริมทรัพย์รูปแบบมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2560 ที่พัฒนาโดยกิจการร่วมทุนระหว่างบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย)

ล่าสุด กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้ฤกษ์เปิดมาสเตอร์แพลน โครงการ วัน แบงค็อก มูลค่าการลงทุน 120,000 ล้านบาท เพื่อตอกย้ำเป้าหมายที่จะให้เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโลก ชนิดเจาะลึกทั้งโครงการ

มาดูกันว่า วัน แบงค็อก อภิมหาโครงการในเครือกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี มีอะไรบ้าง งานนี้ นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และ นางสาวซู หลิน ซูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน แบงค็อก (One Bangkok) มาร่วมกันเปิดเผยถึงมาสเตอร์แพลนทั้งโครงการแบบละเอียดยิบ

onebangkok1

ภาพรวมของโครงการ ประกอบด้วย อาคารสำนักงานเกรดเอ 5 อาคาร รวมพื้นที่กว่า 500,000 ตารางเมตร รองรับบุคลากรได้ถึง 50,000 คน, ที่พักอาศัยระดับลักชัวรี่ 3 อาคาร โดยโครงการแรกเป็นห้องหรูหราขนาด 2-4 ห้องนอน จำนวน 110 ห้อง พื้นที่เริ่มต้นที่ 130 ตารางเมตร พร้อมเปิดตัวช่วงต้นปี พ.ศ. 2563, พื้นที่ร้านค้าปลีกที่มีร้านค้าและร้านอาหารรวมกันกว่า 450 ร้าน บนพื้นที่ 180,000 ตารางเมตร, โรงแรมหรู The Ritz-Carlton, Bangkok และพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า วัน แบงค็อก จะสร้างนิยามใหม่และพลิกโฉมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ในฐานะโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ความมุ่งมั่นของบริษัทคือการเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดหลักความยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และผสานเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า วัน แบงค็อกจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยโดดเด่นเป็นสง่าในเวทีโลก และเติบโตในฐานะศูนย์กลางของประเทศอาเซียนต่อไป

ด้านนางสาวซู หลิน ซูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วัน แบงค็อก กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของ วัน แบงค็อก คือ การยกระดับสถานะของกรุงเทพฯ สู่ศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ที่จะได้รับการยอมรับในระดับโลก จากมุมมองที่ได้เรียนรู้ผ่านย่านสำคัญต่างๆ ของมหานครทั่วโลก ทำให้ตระหนักว่าการสร้างและผสานพื้นที่ของ วัน แบงค็อกตามคอนเซ็ปท์มิกซ์ยูสมีความสำคัญอย่างมาก

onebangkok2

“ด้วยขนาดที่ใหญ่ของโครงการ เราจึงวางแผนการใช้งานพื้นที่ไว้อย่างหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความต้องการและทุกรูปแบบไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม และที่พักอาศัย พร้อมด้วยพื้นที่ส่งเสริมการศึกษา การพักผ่อน สุขภาพ รวมถึงพื้นที่สำหรับศิลปะและวัฒนธรรม มีพื้นที่สาธารณะซึ่งเปิดให้ทุกคนเข้ามาได้ เพื่อสร้างแลนด์มาร์คที่สมบูรณ์แบบ ทั้งสำหรับองค์กรชั้นนำและนักท่องเที่ยว รวมถึงคนไทย” นางสาวซู หลิน ซูน กล่าว

ทั้งนี้ มาสเตอร์แพลนแบบมิกซ์ยูสของ วัน แบงค็อก ได้รับการออกแบบเพื่อให้เป็นที่สุดของเมืองแห่งความครบครัน เพียบพร้อมด้วยอาคารสีเขียว และการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นผู้อยู่อาศัยเป็นศูนย์กลาง พื้นที่ในโครงการสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ทั้งโครงการจะเชื่อมต่อถึงกัน โดยมีใจกลางของโครงการอยู่ที่ Civic Plaza พื้นที่สันทนาการขนาด 10,000 ตารางเมตร ล้อมรอบด้วยพื้นที่รีเทลและพื้นที่ไลฟ์สไตล์บริเวณส่วนล่างของตึก ส่วนพื้นที่สำนักงานและพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยจะอยู่ส่วนบนของตึก ตัวโครงการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี สะดวกต่อการเดินเข้าถึงทุกจุดของโครงการ พร้อมทางเข้าออกรอบโครงการถึง 6 จุด จากฝั่งถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 รวมถึงทางเชื่อมโดยตรงกับทางด่วนซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการอนุมัติ

onebangkok3

เมื่อเจาะลึกในแต่ละส่วน เริ่มจากพื้นที่อาคารสำนักงาน 5 อาคาร พื้นที่รวมกันกว่า 500,000 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบตามมาตรฐาน LEED ระบบการจัดเรตติ้งด้านสิ่งแวดล้อม ที่คิดขึ้นโดยสภาการก่อสร้างอาคารสีเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา และ WELL มาตรฐานระดับสูงสุดที่ใช้กับอาคาร การออกแบบพื้นที่ภายในและชุมชน มีการติดตั้งเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยกำหนดก่อสร้างเป็นเฟสให้แล้วเสร็จในระหว่างปี 2566-2569

ในส่วนของพื้นที่ค้าปลีก ได้เปิดพื้นที่ให้แบรนด์ต่างๆ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยพื้นที่รีเทล 4 โซน ที่มีความแตกต่างกันและเชื่อมต่อถึงกัน พร้อมด้วยร้านค้าและร้านอาหารรวมกันกว่า 450 ร้าน บนพื้นที่ 180,000 ตารางเมตร

สำหรับโรงแรม 5 แห่งภายใน วัน แบงค็อก ทั้งหมดจะเป็นแบรนด์ใหม่สำหรับกรุงเทพฯ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับบูทีคโฮเทล โรงแรมเพื่อธุรกิจ ไปจนถึงระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ รวมกว่า 1,100 ห้อง ได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้เข้าพักอย่างรอบด้าน โดยโรงแรมลักชัวรี่แห่งแรกคือ The Ritz-Carlton, Bangkok ที่จะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2566

ส่วนที่พักอาศัยของ วัน แบงค็อก จะตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของโครงการ เพื่อความสงบและความเป็นส่วนตัวของผู้พักอาศัย เปิดรับวิวทั้งจากฝั่งถนนวิทยุและฝั่งสวนลุมพินี โดยมีอาคารที่พักอาศัยระดับลักชัวรี่ทั้งหมด 3 อาคาร มาพร้อมวิวกรุงเทพแบบพาโนรามาไร้สิ่งบดบัง ซึ่งที่พักอาศัยโครงการแรกจะตั้งอยู่เหนือโรงแรม The Ritz-Carlton, Bangkok ประกอบด้วยห้องที่ตกแต่งอย่างหรูหราขนาด 2-4 ห้องนอน จำนวน 110 ห้อง พื้นที่เริ่มต้นที่ 130 ตารางเมตร พร้อมเปิดตัวช่วงต้นปี 2563

สิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จของ วัน แบงค็อก คือ Signature Tower ที่สูงกว่า 430 เมตร และจะเป็นหนึ่งในสิบตึกที่สูงที่สุดของอาเซียน ภายในประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานและโรงแรมหรูระดับซูเปอร์ลักชัวรี่

ทั้งนี้ วัน แบงค็อก ยังได้รับการออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมที่เชิญชวน ปลอดภัย และเต็มไปด้วยสีเขียวด้วยพื้นที่สีเขียวถึง 50 ไร่ จากพื้นที่รวม 104 ไร่ ซึ่งได้รับการจัดสรรให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อให้ผู้คนได้มาใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ซึ่งรวมถึง Civic Plaza ที่มีพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร สามารถเป็นศูนย์กลางการจัดงานแสดงระดับนานาชาติและงานเทศกาลต่างๆ ของไทยได้

อีกความโดดเด่นของโครงการ อยู่ที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางสุดล้ำสมัย ประกอบด้วยระบบทำความเย็น ระบบรักษาความปลอดภัยแบบรวมศูนย์ ระบบการจัดการน้ำและพลังงาน ควบคุมดูแลโดยศูนย์ข้อมูล และเซ็นเซอร์อันชาญฉลาดมากกว่า 250,000 ตัว ที่คอยบริหารจัดการทุกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นับเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ชูมาตรฐานใหม่ทั้งด้านการออกแบบ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตในสมาร์ท ซิตี้ โดยความคืบหน้าล่าสุด ในส่วนงานเสาเข็มเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมเปิดเฟสแรกในปี 2566 และก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2569

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook