รฟม.แบ่งเค้กรถไฟฟ้า 2 สายลงตัว สีเขียว-ชมพู ลงทุนร่วมแสนล้าน
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีชมพู
ให้สอดคล้องกับปัจจุบันตามราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพราะราคาเดิมนั้น ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการไว้เมื่อปี 2549
รวมถึงกำหนดสัญญาก่อสร้างที่จะเปิดประมูลว่าจะมีกี่สัญญาในแต่ละสายทาง
ทั้งนี้ รายละเอียดการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กม. เงินลงทุนกว่า 59,911 ล้านบาท
และสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม.เงินลงทุน 54,000 ล้านบาท
"แผนเดิมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เริ่มต้นได้เร็วขึ้น สายสีเขียวยังทบทวนค่าก่อสร้างใหม่ไม่เสร็จ ต้องชะลอไปก่อน
จนกว่าจะได้ข้อสรุป ส่วนสายสีชมพู บริษัทที่ปรึกษาปรับปรุงค่าก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดอยู่ที่ 54,000 ล้านบาท"
คาดว่าจะนำรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางเสนอให้ ครม.พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน เพื่อเปิดประมูลและเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในต้นปี 2556 ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดแผนงานไว้
แต่การเลื่อนนำโครงการเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ล่าช้าไป 1-2 เดือน ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนงานแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องทำทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบ
สำหรับแนวทางที่แต่ละสายทางต้องเปิดประมูลหลายสัญญานั้น เพราะมีระยะทางที่ยาวและใช้เงินลงทุนจำนวนมาก รวมกันทั้ง 2 สายทาง ใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท
โดยสายสีเขียวจะแบ่งการประมูลงานโยธากออกเป็น 2 สัญญา
ประกอบด้วย 1.ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กม. และช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กม.
ส่วนสายสีชมพูจะแยกการประมูลออกจากกันระหว่างงานโยธากับการจัดซื้อระบบรถไฟฟ้าที่เป็นโมโนเรล (รางเดี่ยว) หากเปิดประมูลเป็นแพ็กเกจเดียว
สัญญาจะใหญ่มากถึง 54,000 ล้านบาท และเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งรายใหญ่และรายกลางที่จะมีสิทธิ์เข้ายื่นประมูลงาน งานโยธาแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ 1.ช่วงแคราย-อนุสาวรีย์หลักสี่
2.ช่วงอนุสาวรีย์หลักสี่-มีนบุรี ส่วนการซื้อรถโมโนเรลจะเป็นสัญญาเดียว แต่จะเปิดประมูลแบบเปิดกว้าง ไม่เลือกเฉพาะยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งแต่สเปกต้องเข้ากับโครงสร้างโยธาได้