พนักงานค่ายรถยนต์ อู้ฟู่ รับโบนัส 12 เดือน

พนักงานค่ายรถยนต์ อู้ฟู่ รับโบนัส 12 เดือน

พนักงานค่ายรถยนต์ อู้ฟู่ รับโบนัส 12 เดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ค่ายรถกำเม็ดเงินเฉียดแสนล้านแห่ลงทุนหวังใช้ประเทศไทยเป็นฐานบุกตลาดโลก 5 บิ๊ก โตโยต้า-อีซูซุ-ฮอนด้า-นิสสัน-มิตซูบิชิ

ทุ่มผุดโรงงานใหม่โหมเดินเครื่องเต็มเหนี่ยว คาดปีหน้ากำลังผลิตแตะระดับ 1.3 ล้านคัน คนรถยนต์อู้ฟู่ตลาดขยายตัวแบบสุดสุด ไล่แจกโบนัสกันมากกว่า 12 เดือน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วไปจนถึงสิ้นปีหน้า มีกลุ่มนักลงทุนหอบเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนเกือบแสนล้านบาท

โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มีการลงทุนหนักสุด ทั้งการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ รวมถึงการดึงบริษัทชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาเป็นพันธมิตร

ค่ายรถ ส่วนใหญ่ทั้งโตโยต้า-อีซูซุ-ฮอนด้า-นิสสัน-มิตซูบิชิ ต้องการใช้ไทยเป็นฐานผลิตใหญ่ กระจายสินค้าออกไปทั่วโลก โดยมองว่าศักยภาพของไทยโดดเด่น

ได้เปรียบทั้งในเชิงภูมิศาสตร์ สาธารณูปโภค และต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะแรงงาน ซึ่งหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC คืออะไร) แล้วก็ยิ่งจะได้รับประโยชน์จากความ ได้เปรียบนั้นอย่างเต็มที่

นายฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตลาดรถยนต์อนาคตอันใกล้นี้ ยอดขายภายในประเทศน่าจะอยู่ระดับ 1.5-2 ล้านคัน

ส่วนตลาดส่งออกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใน 5-10 ปีจากนี้จะมีการเติบโตถึง 100% ซึ่งทั้งตลาดส่งออกและในประเทศจะขยายไปพร้อมกัน ปีนี้เชื่อว่ายอดขายรถยนต์โดยรวมน่าจะอยู่ระดับ 1.4 ล้านคัน

ส่วนปีหน้าเมื่อสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรกแล้ว ตลาดอาจจะลดลงไปเล็กน้อย 5-10%

อีซูซุได้ลงทุนมูลค่า 6,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรถปิกอัพขนาด 1 ตัน อีซูซุ ดีแมคซ์ และรถบรรทุกอีก 120,000 คันต่อปี

แบ่งเป็นรถปิกอัพ 90,000 คันต่อปี และรถบรรทุกขนาดกลาง 30,000 คันต่อปี

ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทแม่ เพื่อขอเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์อีซูซุในประเทศไทยเป็น 500,000 คันต่อปี เพื่อรองรับกับความต้องการภายในประเทศ และตลาดส่งออกที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายฮิโรตะ ไซกาวา รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน บริษัทได้เตรียมสร้างโรงงานประกอบรถยนต์เฟส 2 ในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 240,000 ตารางเมตร ซึ่งจะแล้วเสร็จและเริ่มเดินสายการผลิตในปี 2557 โดยในช่วงแรกจะมีกำลังการผลิต 75,000 คันต่อปี และสูงสุด 150,000 คันต่อปีในปี 2559

สำหรับโรงงานใหม่นั้นจะรองรับการผลิตรถปิกอัพ เป็นหลัก ป้อนความต้องการของตลาดในประเทศ 50% และส่งออก 50% และเมื่อรวมกำลังการผลิตกับโรงงานแห่งแรกที่ กม.21 บนถนนบางนา-ตราด จ.สมุทรปราการ

มีการผลิตรถยนต์รวม 7 รุ่น เพื่อส่งออกไปจำหน่ายใน 97 ประเทศทั่วโลก ด้วยกำลังการผลิต 220,000 คันต่อปี ทำให้นิสสันมีกำลังการผลิตรวม 375,000 คันต่อปี ถือเป็นฐานการผลิตใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน รองลงมาคืออินโดนีเซีย และมาเลเซีย

"นิสสันตั้งเป้ายอดขายในประเทศไทยและอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 15% ภายในปี 2559 ทำให้บริษัทต้องพยายามเพิ่มยอดขายขึ้น 3 เท่า และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นเป็น 2 เท่าตัว ด้วยการเพิ่มความเข้มข้นในการทำตลาดด้วยผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม คืออีโคคาร์ รถซีดาน และรถปิกอัพ

ส่วนยอดขายในประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2555 คาดว่าจะเกินจากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 120,000 คัน เพิ่มเป็น 132,000 คัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยบวกคือโครงการรถคันแรกทำให้ยอดขายสูงกว่าที่คาดไว้ สัดส่วนยอดขายหลักมาจากอีโคคาร์ ที่บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 50%

เช่น เดียวกับ นายโนบุยูกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มิตซูบิชิได้ลงทุนในประเทศไทยเป็นเม็ดเงินมหาศาล เป็นฐานผลิตสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น จากเดิมเรามีโรงงานประกอบรถยนต์ 2 โรง ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง

ปี หน้าบริษัทจะลงทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงให้สามารถผลิตได้ถึง 200,000 คันต่อปีในปี 2558 ทำให้โรงงานของไทยมีความสามารถในการผลิต 510,000 คันต่อปี ซึ่งงบประมาณดังกล่าวได้รวมถึงการพัฒนาอีโคคาร์ ซีดานด้วย

"ในปี 2558 มิตซูบิชิมีกำลังผลิตในโรงงานแห่งที่ 1-2 อยู่ที่ 310,000 คันต่อปี และหากนับรวมโรงงานที่ 3 อีก 200,000 คัน จะทำให้มีกำลังผลิตทั้งสิ้น 500,000 คัน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดของมิตซูบิชิด้วย"

ก่อนหน้านี้ นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า โตโยต้าพร้อม่จะเดินหน้าลงทุนขยายกำลังผลิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดได้ประกาศลงทุนมูลค่า 1.6 หมื่นล้าน ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อรองรับรถปิกอัพ โตโยต้า วีโก้ และฟอร์จูนเนอร์รุ่นใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558

บริษัทยัง ได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์นั่งใหม่ที่โรงงานเกตเวย์ เป็นโรงงาน 2 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 100,000 คันต่อปี รวมถึงการลงทุนสำหรับโรงงานสำโรง หรือไทยออโตเวิร์ค (TAW) เพื่อผลิตรถโมเดลใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีการผลิตในประเทศไทยอีกจำนวน 20,000 คันต่อปี

จะส่งผลให้โตโยต้ามีกำลังผลิตใกล้เคียง 1 ล้านคันในปี 2558 บริษัทยังมีแผนขยายกำลังผลิตโรงงานบ้านโพธิ์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มรถยนต์ในโครงการไอเอ็มวี 2 และรถยนต์โมเดลอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า โตโยต้าจะมีกำลังผลิตสูงถึง 1.2 ล้านคัน โดยคาดว่าจะใช้เงินในการลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท

ก่อน หน้านี้มีรายงานจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนว่า ฮอนด้าตัดสินใจตั้งโรงงานใหม่อีกแห่งที่จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะตัดสินใจเลือกใช้พื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม 304 จ.ปราจีนบุรี เป็นที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่

ทั้งนี้ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด และในฐานะกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด

สำนักงานใหญ่ของฮอนด้าประจำภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนีย กล่าวปฏิเสธว่า ยังไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันฮอนด้ามีกำลังผลิต 20,000 คันต่อเดือน สำหรับรองรับความต้องการของตลาดภายในประเทศถือว่าเต็มกำลังแล้ว

นาย ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะแต่การลงทุนของค่ายรถยนต์เท่านั้น ปัจจุบันกลุ่มเอสเอ็มอีผู้ผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นสนใจมาลงทุนในประเทศไทย

จากการที่ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ได้ย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทยแทบทุกราย ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในญี่ปุ่นที่ค่าเงินเยนแข็ง ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนญี่ปุ่นจะทยอยย้ายฐานผลิตเข้ามาในประเทศไทยกว่า 500 ราย

แต่ละบริษัทน่าจะใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 250,000 ล้านบาท

สำนักพัฒนา อุตสาหกรรมสนับสนุนได้เร่งสร้างโอกาสให้มีการจับคู่ทางธุรกิจ ตั้งแต่การเริ่มต้นสั่งซื้อสินค้า การร่วมทุนในการตั้งโรงงานผลิต รวมถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,500 ล้านบาท

เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและกระบวนการผลิตสำหรับผู้ประกอบการในไทยอีก 500 ราย

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สำรวจความอู้ฟู่ของบรรดาค่ายรถยนต์แต่ละค่าย เนื่องจากปีนี้ถือเป็นปีทองแห่งการขายรถ เชื่อว่าเกือบทุกบริษัทรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนน่าจะจ่ายโบนัสกันอย่างเต็ม ที่

"ทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น เชื่อว่าปีนี้ไม่ใช่แค่จ่ายกันเป็นเดือนแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็ใกล้ ๆ 10 เดือน เที่ยวนี้น่าจะทะลุ 12 เดือน เรียกว่าจ่ายกันเป็นปีเลยทีเดียว" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับโบนัสที่พนักงานค่ายรถยนต์ได้รับในปีที่แล้ว เริ่มจากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าจ่ายโบนัสประจำปีกับพนักงาน 8 เดือน ขณะที่ค่ายมิตซูบิชิ 7 เดือน

และมีการบวกเงินเพิ่มให้อีกประมาณ 30,000 บาท ขณะที่ค่ายฮอนด้าอยู่ที่ 6 เดือนบวก ๆ และมีเงินเพิ่มต่างหาก เช่นเดียวกับค่ายนิสสัน, ฟอร์ด และมาสด้า ที่ทั้ง 2 ค่ายให้ในอัตราที่ใกล้เคียงกันคือ 4 เดือน และมีโบนัสการันตีให้ในช่วงปลายปีอีก 1 เดือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook