แอร์โฮสเตสอาจเข่าอ่อน เมื่อรู้ค่าปรับของกรมศุลกากร ฐานขนแบรนด์เข้าไทยหวังหนีภาษี
แอร์โฮสเตสที่แอบหิ้วของแบรนด์เนมเข้าไทยหวังเลี่ยงภาษีนำเข้าประเทศส่อเข่าทรุด เมื่อรู้ค่าปรับของกรมศุลกากรบานเบอะ ชนิดที่เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย
ภาพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่แอบซ่อนสินค้าแบรนด์เนมดังทั้งเข็มขัด กระเป๋า รองเท้า และอื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและการบินไทยเข้าจับกุม เป็นภาพที่ติดตาใครหลายๆ คนจนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ไม่อาจเพิกเฉยเรื่องดังกล่าวได้อีกต่อไป
>> แอร์โฮสเตสสาวถูกจับโป๊ะ แอบยัดของแบรนด์เนมเต็มตัว หวังหิ้วเข้าไทย
ซึ่งนายสุธีรัชต์ ศิริพลานนท์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริการบนเครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุถึงกรณีพนักงานคนดังกล่าวนั้นเดินทางมาจากอิตาลี นำสินค้าเกินจำนวนเข้าไทย รวมถึงเลี่ยงการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ มีบทลงโทษพนักงานเช่นนี้ตามระเบียบของบริษัทฯ โดยโทษสูงสุดคือไล่ออก ส่วนในข้อกฎหมายของกรมศุลการกรนั้น จะดำเนินการปรับและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สงสัยมั้ยหรือเปล่า...แอร์โฮสเตสที่แอบขนของแบรนด์เนมเลี่ยงภาษีจะเสียค่าปรับให้กับกรมศุลกากรเท่าไหร่? Sanook! Money บอกเลยว่าได้ไม่คุ้มเสียจริงๆ เมื่อรู้ค่าปรับของกรมศุลกากร
ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุถึงความผิดทางศุลกากรที่มักพบบ่อย ในการนำเข้าส่งออก ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทได้ดังนี้
- ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร
- ความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากร
- ความผิดฐานสำแดงเท็จ
- ความผิดฐานนำของต้องห้ามกำกัดเข้ามาใน หรือส่งออกนอกราชอาณาจักร
- ความผิดฐานฝ่าฝืนพิธีการศุลกากร
ซึ่งในกรณีของแอร์โฮสเตสคนดังกล่าวเข้าข่ายว่าเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากร หมายถึง การนำของที่ต้องชำระค่าภาษีอากร หรือส่งออกของออกไปนอกประเทศไทย โดยนำมาผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง แต่ใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีเจตนาเพื่อมิให้ต้องชำระค่าภาษีอากร หรือชำระในจำนวนที่น้อยกว่าที่ต้องชำระ เช่น สำแดงปริมาณ น้ำหนัก ราคา ชนิดสินค้า หรือพิกัดอัตราศุลกากรเป็นเท็จ เป็นต้น
ดังนั้น ผู้นำเข้าหรือส่งออกที่มีความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรจึงมีความผิดฐานสำแดงเท็จอีกฐานหนึ่งด้วย กฎหมายศุลกากรได้กำหนดโทษผู้กระทำผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีอากรไว้สูงสุด คือ ให้ริบของที่หลีกเลี่ยงภาษีอากรและปรับเป็นเงิน 4 เท่าของของราคารวมค่าภาษีอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับและจำ
โดยเราสมมติให้เข็มขัดแบรนด์เนมที่แอร์โฮสเตสแอบซ่อนบริเวณลำตัว ราคาเส้นละ 15,000 บาท
ซึ่งค่าปรับของกรมศุลกากรคือ 4 เท่าของของราคารวมค่าภาษีอากร (เข็มขัด 30%) เท่ากับว่าแอร์โฮสเตสจะต้องจ่ายค่าปรับเข็มขัดเส้นละ 78,000 บาท ให้กรมศุลกากร
นอกจากนี้ในรายละเอียดของกรมศุลกากร ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า กรณีที่มีการนำของซุกซ่อนมากับของที่สำแดงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรสำหรับของซุกซ่อน โทษสำหรับผู้กระทำความผิด คือ ปรับ 4 เท่าของอากรที่ขาดกับอีก 1 เท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีเพื่อมหาดไทยที่ขาด (ถ้ามี) และให้ยกของที่ซุกซ่อนมาเป็นของแผ่นดิน เท่ากับว่าแอร์โฮสเตสคนดังกล่าวอาจจะต้องเสียค่าปรับมากกว่าค่าปรับ 4 เท่าของของราคารวมค่าภาษีอากรด้วย