ธนาคารกระบอกไม้ไผ่ ส่งเสริมการออม สร้างฐานชุมชนเข้มแข็ง

ธนาคารกระบอกไม้ไผ่ ส่งเสริมการออม สร้างฐานชุมชนเข้มแข็ง

ธนาคารกระบอกไม้ไผ่ ส่งเสริมการออม สร้างฐานชุมชนเข้มแข็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อปี 2553 เทศบาลตำบลเขมราฐได้เข้าร่วมโครงการตำบลสุขภาวะกับสำนักงานสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการถอดบทเรียนชุมชน ผ่านการทำงานของทุกภาคส่วนจนทำให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน 8 ระบบ 36 แหล่งเรียนรู้



จากการทำงานร่วมกัน จึงทำให้เห็นภาพกว้างของปัญหา นำไปสู่การตั้งคำถาม หาคำตอบ และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อคนในชุมชน โดยในจำนวนนั้นคือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชุมชน คือ ปัญหาในเรื่องการออม การขาดซึ่งวินัยในการออมของผู้คนในชุมชน การรับทราบปัญหานำไปสู่การพูดคุยร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อทำอย่างไรจะทำให้การออมของผู้คนในชุมชนเพิ่มขึ้น และติดเป็นพฤติกรรมต่อไป

ก่อนหน้าการเกิดโครงการที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการออมของชุมชนเทศบาลตำบลเขมราฐนั้น ย้อนไปในปี 2552 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิการชุมชน ได้มีการสนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้งสวัสดิการชุมชนขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงแก่ชุมชน

โดยดำเนินการเรื่องนี้ภายใต้หลักการมุ่งเน้นและกระตุ้นให้ภาคประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม และให้มีการสมทบงบประมาณจากสามฝ่าย ได้แก่ 1.ภาคประชาชน ผ่านการออมของสมาชิกในชุมชน โดยใช้โครงการสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท 2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การสนับสนุนกองทุน 3.รัฐบาลให้การสนับสนุนสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน 1 กองทุน 1 ตำบล 1 กองทุน 1 เทศบาล (โดยกำหนดเงื่อนไขต้องเป็นสมาชิกกองทุนครบ 6 เดือน)

ผลลัพธ์และประโยชน์ ที่ได้จากการดำเนินการกองทุนสวัสดิการชุมชน คือทำให้เกิดการช่วยเหลือกันในระหว่างชุมชน เกิดวินัยในการออม ทำให้สามารถแก้ปัญหาหลายเรื่องในชุมชน

ก่อให้เกิดผลทางด้านจิตใจ มีความภาคภูมิใจ ด้วยเพราะในกลุ่มสมาชิกการออมนั้นมัโอกาสได้ช่วยเหลือกันในกิจกรรมด้านต่างๆ




แต่ทั้งนี้จะต้องกระตุ้นให้เกิดการออมภาคประชาชนก่อน จึงเป็นหน้าที่ของคณะทำงานส่วนท้องถิ่นที่จะต้องสร้างการออมขึ้น นายวชิระ วิเศษชาติ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ ได้มีการประชุมร่วมมันระหว่างภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ เพื่อหาทางทำให้การออมนั้นเกิดขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เพราะการจะแก้ปัญหาการขาดแคลนรายได้ของประชาชน นอกจากส่งเสริมเรื่องอาชีพแล้ว ต้องสร้างนิสัยการออมควบคู่กันไปด้วย

ดาบตำรวจศุภชัย บ้งพรม ผู้นำกลุ่มธนาคารกระบอกไม้ไผ่ เล่าให้ฟังว่า นายกฯ วชิระ เป็นคนเสนอแนวความคิดเรื่องการฟื้นฟูกระปุกออมสินไม้ไผ่ที่เคยเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนใช้ ให้นำมาเป็นเครื่องมือทำให้ชาวบ้านหันมาสนใจการออม ด้วยเพราะในกลุ่มสมาชิกชาวบ้านของตำบลเขมราฐเองนั้นก็มีกลุ่มที่ทำอาชีพเกี่ยวกับไม้ไผ่อยู่ ปัญหาเรื่องจะขาดแคลนกระบอกไม้ไผ่จึงไม่ใช่ปัญหา

แต่ดูเหมือนว่าปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ จะทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดการนำเงินมาออมใส่กระบอกไม้ไผ่ ดต.ศุภชัย เสริมว่า "ด้วยเหตุนี้นายกฯ วชิระ จึงให้เริ่มที่ตัวเราก่อน นั่นคือผู้ทำงานทั้งหมด ข้าราชการ พนักงานเทศบาล ตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ของเทศบาลเขมราฐ เรียกมาทำความเข้าใจ และให้เริ่มเป็นตัวอย่างให้กับผู้คนในชุมชน"

นอกไปจากนั้นกระบอกเสียงของชุมชนก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยกันถ่ายทอดและกระจายแนวความคิดและประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการออมนี้ออกไปให้กับผู้คนในชุมชนได้รับรู้

ธนาคารกระบอกไม้ไผ่ อยู่ภายใต้กรอบการคิดของกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลเขมราฐมีหน้าที่สำคัญ คือ ส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมเงิน เพื่อแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชนของตนเอง

ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถจัดสวัสดิการแก่สมาชิกตลอดชีพ ในเรื่องของ กระบวนการคิด การเก็บ การศึกษา จนถึงการตาย ส่งเสริมให้เกิดคุณธรรม ความสมามัคคี มีน้ำใจ ร่วมมือกันแก้ปัญหาในหมู่สมาชิก ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และเป็นกองทุนที่ไม่มุ่งเน้นแสวงหาผลกำไรทางทรัพย์สิน แต่เป็นการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก


การออมผ่านธนาคารกระบอกไม้ไผ่นี้ ไม่มีการบังคับว่าจะต้องออมเท่าไหร่ สมาชิกทุกคนต่างถือกระปุกกระบอกไม้ไผ่ไว้ที่ตนเอง ในทุกปีจะมีวันที่มาทำการเปิดกระปุกไม้ไผ่ร่วมกัน โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรม เมื่อสมาชิกได้เห็นเงินออมที่ตนเองเก็บออมใส่กระบอกไม้ไผ่ ก็สามารถสร้างแรงจูงใจ และความภาคภูมิใจให้กับตนเอง ได้เป็นอย่างดี 


ดต.ศุภชัย กล่าวว่า คนเฒ่า คนแก่บางคน เปิดกระปุกตนเองออกมาครั้งแรก เห็นเงินออมที่เก็บมาด้วยตนเอง ดีใจจนน้ำตาไหล เมื่อคนในชุมชนได้เห็น ได้สัมผัส มีประสบการณ์ตรงจากการออมด้วยตนเอง จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไปในการสร้างจิตสำนึกที่ดีในเรื่องของการออมให้เกิดขึ้นในครอบครัว


นอกไปจากนั้น ธนาคารกระบอกไม้ไผ่ยังได้สร้างองค์ความรู้ สร้างวินัยในการออมให้กับผู้คนในชุมชนเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก ไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ด้วยเพราะมีการส่งเสิรมให้เกิดการออมตั้งแต่เด็ก อย่างที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเขมราฐ ก็มีกระปุกของเด็กๆ ติดรูปไว้ ให้เด็กเล็กออมเงินด้วยตัวเอง การทำงานร่วมมือกันของทุกภาคส่วนตั้งแต่เทศบาลตำบลเขมราฐ หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคประชาชน วัด อย่างจริงจังทุ่มเททำให้สามารถสร้างวินัยในการออมให้เกิดขึ้นมีความมั่นคง


ดต.ศุภชัย เสริมว่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออม นายกฯ วชิระ จึงคิดกุศโลบายขึ้น อย่างเช่นการมอบของแก่ผู้ที่มีเงินออมสูงสุด เป็นโทรทัศน์จอแบน และของรางวัลเครื่องใช้อื่นๆ ซึ่งในปีแรกที่ทำนั้น ประสบความสำเร็จอย่างสูง
นายสุรวุฒิ ยุทธชนะ อาจารย์ประจำโรงเรียนเขมราฐพิทยาคม เล่าให้ฟังว่า ทุกคนในชุมชนหันมาออมเงินมากขึ้น อย่างวันทุบกระปุกนั้น ชาวบ้านบางคนถึงกับร้องไห้ เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถมีเงินเก็บ และเก็บเงินได้


ภายหลังจากปีแรก ทางฝ่ายบริหารก็รุกต่อ ด้วยการทำกองทุนสวัสดิการชุมชนต่อทันที โดยประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าร่วม มีผู้สนใจในปีแรกราว 180 คน สมทบเงินวันละ 1 บาท จากนั้นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเทศบาลตำบลเขมราฐ สมทบอีกส่วนหนึ่ง และภาครัฐอย่างสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอีกส่วนหนึ่ง




ผู้ที่เข้าร่วมในส่วนกองทุนสวัสดิการจะได้รับสิทธิประโยชน์ อย่างเมื่อสมาชิกคลอดบุตร จะได้รับเงินรับขวัญ เมื่อเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจะได้รับเงินช่วยเหลือ กรณีเสียชีวิต เมื่อทำการออมครบหกเดือนรับเงินฌาปนกิจ 2,500 บาท ออมครบหนึ่งปีแล้วเสียชีวิต รับเงินฌาปนกิจ 5,000 บาท



ในด้านการศึกษา สำหรับสมาชิกที่เป็นเด็กจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ กรณีป่วย เสียชีวิตเหมือนสมาชิกทั่วไป แต่เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่หก กองทุนจะจ่ายเงินออมคืนให้ทั้งหมดเพื่อให้นำไปใช้เป็นทุนการศึกษาต่อไป สิทธิพิเศษเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมทำให้สมาชิกภายในชุมชนเกิดความรู้สึกอยากเข้าสู่กองทุนสวัสดิการสังคม



ธนาคารกระบอกไม้ไผ่ จึงนับเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้กิจกรรมส่งเสริมการออมชุมชนในเทศบาลตำบลเขมราฐประสบความสำเร็จ รวมถึงการเกิดขึ้นของกองทุนสวัสดิการอย่างเป็นรูปธรรม โดยทำงานร่วมกันของประชาชน ร่วมกับโครงการต่างๆ ภายในชุมชนเทศบาลเขมราฐ โดยตัวเทศบาลมีการดึงข้อมูลจาก TCNAP มาใช้เพื่อบริหารจัดการความร่วมมือระหว่างกัน เทศบาลสามารถตรวจสอบได้ว่าจะเชื่อมโยงโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดการประสานงานร่วมกัน และเกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร



กระบวนการสร้างนิสัยในการออมของเทศบาลตำบลเขมราฐจึงสามารถกระจายตัวออกไปทั่วสู่กลุ่มประชากรในชุมชนที่หลากหลาย ผ่านโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ของเทศบาล อาทิ ชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าโดยนำภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กระบอกไม้ไผ่จัดหาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ในชุมชน การรวมกลุ่มทำโครงการโดยผ่านวัด สำนักสงฆ์ในชุมชน ทำให้กิจกรรมการออมเกิดขึ้นมีลมหายใจ มีชีวิต สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook