ขนมปังร้าน "อร่อย" ท่าพระจันทร์ ธุรกิจ SMEs รายได้ดี
เป็นอีกหนึ่งตำนานความอร่อยคู่ท่าพระจันทร์มานานนับ 30 ปี สำหรับขนมปังอบกรอบร้าน "อร่อย" ที่วันนี้ยังคงรสชาติความอร่อยแบบดั้งเดิมของขนมปังกรอบอบกระเทียบ และอบเนย
หากแต่มีแพ็กเกจจิ้งใหม่ที่เก๋ไก๋สะดุดตามากขึ้น ภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นที่ 3 นพ ทีปประสาน เจ้าของร้านมาดเข้มอารมณ์ดี
"ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ เดิมก่อนจะมาทำร้านขนมปัง คุณปู่เคยทำร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อมาก่อน พออายุมากขึ้นเลยอยากทำงานที่ใช้คนไม่กี่คนและไม่ต้องเหนื่อยมาก
คุณปู่เป็นคนทำอาหารเก่งเลยคิดสูตรขนมปังอบกรอบขึ้นมา และมาเซ้งที่ด้านหน้าท่าพระจันทร์ เปิดร้านมา 30 ปีแล้ว คุณปู่ส่งต่อกิจการให้ผมเข้ามาดูแล เลยอยากพัฒนาให้ดีขึ้น
โดยสินค้ายังคงเป็นสูตรเดิม แต่พัฒนาแพ็กเกจจิ้งใหม่ จากเดิมที่ใส่ถุงขายแบบบ้านๆ มาเป็นกล่องกระดาษซึ่งมีภาพลักษณ์ดูดีขึ้น ลูกค้าก็แฮปปี้เพราะบางคนซื้อกลับไปไกลๆ ที่ต่างจังหวัด ขนมจะได้ไม่แตกหักง่าย"
ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าว่า ด้วยความที่รูปแบบสินค้าเป็นขนมปังอบกรอบซึ่งแตกหักง่าย การออกแบบแพ็กเกจจิ้งจึงมีโจทย์ค่อนข้างเยอะ เช่น ต้องซีลให้ดี อากาศเข้าได้น้อย
ผมให้โจทย์ดีไซเนอร์ว่าต้องการแพ็กเกจจิ้งที่ออกแนววินเทจย้อนยุค ดูอบอุ่น และที่สำคัญต้องป้องกันการแตกหักของขนมได้ด้วย
ในที่สุดจึงได้ออกมาเป็นแพ็กเกจกิ้งกล่องกระดาษทรงเตี้ยที่ดูแข็งแรงและเก๋ไก๋มากขึ้นด้วยกราฟิกแนววินเทจ ย้อนยุคด้วยรูปแม่บ้านอเมริกันยุค 60-70 พร้อมข้อความที่สื่อถึงความเป็นขนมปังกรอบโฮมเมด ไม่ผสมสารกันเสีย
ทำด้วยความพิถีพิถันด้วยใจ 100% Baked With Love
"กราฟิกแนววินเทจเป็นความชอบส่วนตัว ผมเป็นคนชอบศิลปะแนวนี้อยู่แล้ว คิดว่าร้านเราเปิดมานานแล้วก็น่าจะย้อนไปยุคแม่บ้านอเมริกันยุค 60-70
ซึ่งแม่บ้านกับขนมปังก็เป็นอะไรที่ดูนุ่มนวลหน่อยไปด้วยกันได้ เพราะผมต้องการสื่อถึงความเป็นต้นตำรับ
นอกจากนี้ ยังปรับจากรูปแบบเดิมที่เป็นกล่องสูงซึ่งแพ็กขนาดได้ยาก มาเป็นการบรรจุแบบชั้นเดียว เป็นกล่องทรงเตี้ยโดยขนมปังเรียงประกบกันสองด้าน หลังจากปรับแพ็กเกจจิ้งใหม่ ผลตอบรับก็โอเคมีคนชอบเยอะ และทำให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นโดยที่ราคายังคงเดิมอยู่"
ในมุมมองของนพมองว่า แพ็กเกจจิ้งที่ดีคือแพ็กเกจจิ้งที่ทำหน้าที่บรรจุภัณฑ์ ช่วยให้ภาพลักษณ์ดีขึ้นแต่ไม่ควรทำหน้าที่ดูดีเกินกว่าสินค้าที่อยู่ข้างใน หากถามว่าดีไซน์มีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจซึ่งดำเนินมาถึงในรุ่นที่ 3 อย่างไร
ยอมรับว่าในยุคนี้ดีไซน์มีส่วนมากขึ้น ช่วยสร้างความแตกต่างว่าแบรนด์เราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร
"พอเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งใหม่ ฟีดแบ็กก็ดีมากๆ คนชมและซื้อมากขึ้นด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักศึกษาและคนทำงาน แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่อายุ 60 จะมีคำถามว่ามีแพ็กเกจแล้วจะแพงกว่าหรือเปล่า จริงๆ แล้วถูกกว่า เพราะแบบกล่องราคา 40 บาทจะบรรจุขนมปัง 24 แผ่น แต่ขนาดถุง 20 บาทจะมี 11 แผ่น แบบกล่องจะได้มากกว่า 2 แผ่น เป็นความตั้งใจของผมที่อยากพัฒนาสินค้าตัวนี้
เนื่องจากค่าแรงที่สูงขึ้น ดังนั้น การบรรจุ 1 ครั้งควรขายได้ 40 บาทไปเลยมากกว่า 20 บาท ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนด้วย โดยใช้การขายในจำนวนที่มากขึ้นซึ่งดีกว่าการขึ้นราคา ดีไซน์จึงเข้ามาช่วยในหลายโจทย์ ทั้งป้องกันการแตกหักของขนม และช่วยให้เกิดการขายในปริมาณที่มากขึ้น"
นพเล่าว่า การปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ในรูปแบบกล่องกระดาษไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นมากนัก แต่ต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือ ต้นทุนวัตถุดิบซึ่งแพงกว่า
เช่น ราคาเนยซึ่งปรับสูงขึ้นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ราคายางวงรัดถุงมีราคาแพงขึ้นกว่าเท่าตัว
"ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นเยอะ แต่เราพยายามคุมราคาขายให้ทุกคนยังสามารถซื้อได้ ราคาเริ่มต้นยังคงไว้ที่ 20 บาทมาตั้งแต่สมัยเปิดร้าน ทำให้เราต้องหาวิธีการบริหารต้นทุน เช่น ซื้อกับซัพพลายเออร์ในจำนวนที่มาก
ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายวัตถุดิบที่สูงขึ้นอาจทำให้เราต้องกำไรน้อยลง แต่เราขายถูกทำให้ลูกค้าซื้อในปริมาณที่เยอะ ลูกค้าบางคนซื้อตั้งแต่สมัยเรียน จนจบแล้วมีลูกก็ยังกลับมาซื้อ เป็นความผูกพันกับตัวสินค้า เหมือนถ้ามาท่าพระจันทร์แล้วต้องมาซื้อ"
ก้าวต่อไปของ "ร้านอร่อย" สำหรับทายาทรุ่นที่ 3 คือ อยากทำสินค้าให้ดี รักษายอดขายให้คงที่ ยังคงความเป็นธุรกิจโฮมเมดเล็กๆ และหากเป็นไปได้อยากพัฒนาแพ็กเกจจิ้งในอนาคตให้ใช้พลาสติกน้อยที่สุด หรือถ้าไม่มีเลยได้ยิ่งดี
"บอกตรงๆ ว่าผมไม่อยากขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น หรือขยายสาขา เราพอใจกับการทำธุรกิจไซส์เล็กๆ ขนาดนี้ สบายๆ ควบคุมคุณภาพได้ง่ายกว่า
เราสามารถจัดการได้ ทำธุรกิจแบบพออยู่ได้ สนุกๆ มีเวลาให้กับครอบครัว ปรัชญาของผมคือทำงานแล้วทุกคนมีความสุข กำไรไม่ต้องเยอะแต่เรามีความสุข ลูกน้องมีความสุขและอยู่ได้"