ไฟเขียวขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เริ่ม 1 ม.ค. 56
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบในการขึ้นค่าแรง 300 บาท ทั่วประเทศ
โดยจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2556 นี้ แล้ว พร้อมกับหามาตรการในการช่วยเหลือภาคเอกชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากมาตราการดังกล่าว โดยแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการการะทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการในการหามาตราการช่วยเหลือ ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อหามาตราการในการเยียวยาผู้ประกอบการต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือกองทุนตั้งตัวได้ 5 พันล้านบาท เพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน มีการประชุมคณะกรรมการติดตามเรื่องผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ ของคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ที่เมืองทองธานี โดยนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้า ไทย
เปิดเผยผลประชุมว่า เป็นการประชุมครั้งที่สองเพื่อหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว โดยครั้งนี้มีมติให้แยกผลกระทบจากค่าแรงเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือหามาตรการลดภาระด้านต้นทุน แบ่งเป็น 11 ข้อ และสอง
เรื่องการหามาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ พร้อมทั้งมีการจัดกลุ่มผลกระทบเป็นระดับสูงถึงต่ำ เนื่องจากแต่ละภาคธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยรายละเอียดต่างๆ ที่ประชุมให้ 3 สถาบันหารือกับสมาชิกอีกครั้งหนึ่ง
นายสมเกียรติกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังรอภาครัฐเรียกหารือเพื่อจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหา หลังจากเอกชนยื่นเสนอไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากภาครัฐ มีแต่การประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านเวทีสัมมนาต่างๆ
นายสมเกียรติกล่าวถึงตัวอย่างมาตรการที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ เช่น มาตรการด้านต้นทุนอยากให้ลดอัตราเงินนำส่งประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง มาตรการด้านการเงินอยากให้ภาครัฐสนับสนุนวงเงินกู้ 0% เป็นเวลา 3 ปี โดยให้เพิ่มวงเงินสนับสนุนจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท
ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ต้องเดินหน้าแน่นอน ไม่สามารถเลื่อนตามข้อเสนอของ ส.อ.ท.ได้
แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบผู้ประกอบการแน่นอน โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รวบรวมผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือ ส่วนความขัดแย้งภายใน ส.อ.ท.มั่นใจว่านายพยุงศักดิ์จะสามารถแก้ไขได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปจัดการ แม้ว่าจะมีอำนาจปลดประธาน ส.อ.ท.ก็ตาม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวยอมรับว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือแล้ว
โดยเฉพาะมาตรการทางด้านการเงินและภาษี เช่น สินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 2.4 พันล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน วงเงินกู้ยืม 42,000 บาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี โดยมีวงเงินในโครงการทั้งหมด 570 ล้านบาท และสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน จากกองทุนประกันสังคมอีก 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อรองรับค่าแรงสูงด้วย