"สินค้าหรู" รุ่งในเอเชีย "แอร์เมส" โกยยอดสวนกระแส
แบรนด์หรู "แอร์เมส" โตทะลุ 24% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รับความต้องการในเอเชียที่หันมาปลื้มแบรนด์ในยุโรป อเมริกา ทำให้ยังโตสวนทิศทางเศรษฐกิจ
แอร์เมส อินเตอร์เนชั่นแนล เอสซีเอ หรือ แอร์เมส บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่รู้จักกันดีในนามผู้ผลิตกระเป๋าราคาแพงหูฉี่อย่าง "เบอร์กิ้น" และ "เคลลี่" สนนราคาใบละหลายแสนบาท ได้ออกแถลงการณ์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า
ยอดขายในช่วงไตรมาส 3 ของแอร์เมสเติบโตดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ทำให้รายได้ของบริษัทในปี 2012 จะเติบโตขึ้นกว่าที่เคยตั้งเป้า โดยมีปัจจัยสำคัญจากปริมาณความต้องการสินค้าลักเซอรี่ในเอเชีย นำโดยประเทศหลักอย่างจีน สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายในสินค้าหรูอย่างต่อเนื่อง
โดยตัวเลขยอด ขายของแอร์เมสที่มีการรายงานนั้น มียอดเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 24% คิดเป็นมูลค่า 848.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่ง"โทมัส เมสมิน" นักวิเคราะห์จากแคลิฟอร์เนีย กล่าวถึงยอดขายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยไม่นับประเทศญี่ปุ่นว่ามีการเติบ โตขึ้นถึง 22% หรือเพิ่มขึ้น 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ตลาดหลัก อย่างฝรั่งเศสก็ยังคงครองสัดส่วนยอดขายจำนวนมากเอาไว้ แม้ยุโรปในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ กระทบกับกำลังซื้อของผู้คนทั่วไปก็ตาม แต่แบรนด์หรูอย่าง "แอร์เมส" ก็ยังสามารถทำยอดขายในยุโรปเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วได้ถึง 14% และเป็นสัดส่วนเดียวกันกับที่อเมริกา
ดูเหมือนว่าประโยคที "แพทริค โทมัส" ซีอีโอแอร์เมส ได้เคยกล่าวไว้เมื่อราวเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่า "บริษัทยังคงไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาลง" ซึ่งถึงในเวลานี้ ประโยคทองที่ว่า ก็ยังคงนำมาใช้ได้อยู่ เนื่องจากยอดขายไม่เคยหล่นเหมือนแบรนด์อื่น
จากก่อนหน้านี้ที่ผู้ บริหารแบรนด์ดังรายนี้เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนสิงหาคมว่า รายได้ทั้งหมดของปี 2012 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 12% หากไม่นับการแกว่งตัวของค่าเงิน และหากอัตราแลกเปลี่ยนยังคงที่อยู่ในระดับดังกล่าว
ตัวเลขการเติบโตทั้งปีอาจเกิน 13% โดยแถลงการณ์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุว่า อัตราการเติบโตในลักษณะนี้เกิดจากการที่บริษัทยังคงรักษาสถานะกำไรจากปี 2010 และสามารถทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2011
ทั้งนี้ ยอดขายของแอร์เมสในกลุ่มเครื่องหนัง ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของผลิตภัณฑ์ มีการเพิ่มขึ้น 11% ขณะที่กลุ่มเรดี้ทูแวร์ หรือแฟชั่นแอ็กเซสซอรี่เพิ่มขึ้น 21% ส่วนกลุ่มผ้าไหม สิ่งทอ และน้ำหอมเพิ่มขึ้น 14% กลุ่มเครื่องใช้สำหรับโต๊ะอาหารเพิ่มขึ้น 18% และกลุ่มนาฬิกาเพิ่มขึ้น 6.2%