ธ.ก.ส. เฉลยสาเหตุที่ดึงเงินประกันราคาข้าวของชาวนากลับคืน
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงกรณีที่ ธ.ก.ส. โอนเงินส่วนต่างประกันรายได้รอบแรกให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 62 และระบุการเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ ตามข้อมูลที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ส่งมาให้
เนื่องจากเป็นการโอนเงินในรอบแรกของโครงการสำหรับฤดูทำนาในปีนี้ จึงต้องมีการตรวจสอบซ้ำเพื่อให้การโอนเงินสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของโครงการ ประกอบกับมีการทักท้วงขอให้มีการสอบทานข้อมูลบางส่วนที่อาจไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 62 กำหนดระยะเวลาที่จะขอใช้สิทธิ์ชดเชยระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 62 - 28 ก.พ. 63 ยกเว้นเกษตรกรภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 31 พ.ค. 63 เพื่อป้องกันความเสียหาย ธ.ก.ส.จึงได้มีการดึงเงินกลับและเร่งดำเนินการสอบทานความถูกต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ครม. กำหนด และป้องกันปัญหาเกษตรกรได้รับเงินชดเชยส่วนต่างก่อนระยะเวลาที่กำหนด
จากการสอบทาน พบว่า เป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการปลูกข้าวก่อนกำหนด ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 62 เป็นต้นมา และแจ้งข้อมูลเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงระยะเวลานี้จริง โดยเอกสารโครงการประกันรายได้ระบุว่า เกษตรกรสามารถใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ยกเว้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่กำหนด ให้ใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ ซึ่งสามารถจ่ายได้ ธ.ก.ส.จึงได้โอนเงินชดเชยส่วนต่างเข้าบัญชีเงินฝากให้แก่เกษตรกรทุกรายแล้วจำนวน 2,473 ราย ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลาและสงขลา และในพื้นที่ 5 จังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี และสมุทรสงครามครบถ้วนตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2562
>> เกษตรกรยิ้ม! รัฐจ่ายเงินประกันราคาข้าวงวดแรก มีผู้รับสูงสุด 74,000 บาทต่อครัวเรือน