เบื่องาน แก้ยังไงก็ไม่หาย ?
เว็บไซต์ต่างประเทศได้จัดอันดับ 10 อาชีพสุดน่าเบื่อ โดยอาศัยปัจจัยของสิ่งแวดล้อม ความกดดัน ความต้องการทางร่างกาย ความคาดหวังต่อการจ้างงาน
โดยมีอาชีพที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าจะติดอันดับด้วย เรียงลำดับจากน่าเบื่ออันดับที่ 10 คือ สื่อมวลชน รองลงมา ได้แก่ คนขายเนื้อ คนล้างจาน จดมิเตอร์ไฟ พนักงานเสิร์ฟ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ นักขุดเจาะน้ำมัน ทหาร คนเลี้ยงวัวนม และอาชีพที่ถูกจัดอันดับให้น่าเบื่อมากที่สุด คือ ช่างตัดไม้
แม้ว่าการจัดอันดับนี้ จะสำรวจในกลุ่มคนทำงานในแถบประเทศตะวันตก ซึ่งอาจมีบริบทและอาชีพงานที่แตกต่าง แต่เราสามารถสังเคราะห์ถึงเหตุผลบางอย่างที่ทำให้อาชีพเหล่านี้ ก่อให้เกิดความรู้สึก "เบื่อ" ได้มากกว่าอาชีพอื่น อาทิ
อยู่กับความซ้ำซากจำเจ
งานที่น่าเบื่อหลายอย่าง เกิดจากการที่ต้องทำสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ตลอดทั้งวัน และเป็นเช่นนั้นต่อเนื่องไปทุก ๆ วัน เช่น อาชีพล้างจาน ที่ต้องอยู่ในห้องครัว
อยู่กับความเปียกแฉะต้องขัดถูถ้วยชาม หม้อกระทะ หรืออาชีพจดมิเตอร์ไฟ ที่ต้องเดินไปตามระเบียงบ้าน มองหามิเตอร์ไฟฟ้า แล้วจดรายละเอียดไปเรื่อย ๆ หรืออาชีพคนเลี้ยงวัวนม ที่ต้องอยู่กับสัตว์ตลอดเวลา เป็นต้น
ในความเป็นจริงไม่ว่างานใด ถ้าคนทำงานต้องทำแบบเดิมซ้ำ ๆ อยู่ทุกวันย่อมเกิดความเบื่อหน่ายได้
อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
สภาพแวดล้อมในการทำงานมีผลต่อการก่อให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ได้ การที่ต้องทำงานอยู่ในสถานที่ที่มีกลิ่นอับ ร้อนอบอ้าว น่าอึดอัด อยู่กับความสกปรก
ย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในงานที่ทำได้ เช่น คนขายเนื้อ ที่ต้องทนอยู่กับเนื้อสด เลือดและความสกปรก หรืออาชีพช่างตัดไม้ ที่ต้องทำงานท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนจัดในตอนกลางวัน
และอากาศที่หนาวจัดในตอนกลางคืน เป็นต้น ดังนั้น อาชีพอื่น ๆ ที่ต้องทนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ย่อมลดความสุขจากการทำงานลงได้
อยู่กับความตึงเครียดตลอดเวลา
อาชีพที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการทำงาน เช่น ผู้สื่อข่าว ที่มีความเครียดสูงเพราะต้องรายงานข่าวให้ผู้ชมเข้าใจในเวลาจำกัด อาชีพพนักงานเสิร์ฟ ที่ต้องดูแลให้บริการลูกค้าให้ดี
อาจเกิดความเครียดเพราะกลัวว่าทำไม่ได้ดี ต้องทนรับอารมณ์ลูกค้าบางรายที่ไม่มีเหตุผล อาชีพนักขุดเจาะน้ำมัน แม้จะมีรายได้สูง แต่ก็เป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตราย หรืออาชีพทหาร ที่ต้องระแวดระวังภัย ต้องต่อสู้กับศัตรู ต้องเสี่ยงกับการโดนกระสุนหรือระเบิด
จึงเกิดความเครียดตลอดเวลา เป็นต้น อาชีพอื่น ๆ ที่คนทำงานต้องเสี่ยงภัย หรือต้องอยู่กับงานยาก งานที่กลัวว่าจะทำได้ไม่สำเร็จ ย่อมก่อนให้เกิดความเบื่อหน่ายได้
อยู่กับงานหนัก รายได้น้อย
สาเหตุของความเบื่อหน่ายอีกประการหนึ่ง คนทำงานรู้สึกว่าตัวเองทำงานหนัก ทุ่มเทแรงลงไปมาก แต่กลับได้รายได้น้อย ไม่เพียงพอกับความอยู่รอดของครอบครัว เช่น อาชีพคนล้างจาน ที่ถูกจัดว่ามีรายได้ต่ำที่สุดในบรรดาอาชีพที่ถูกจัดอันดับ
อาชีพพนักงานเสิร์ฟ ที่เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่รายได้ต่ำ เป็นต้น ในหลายอาชีพ คนทำงานอาจเกิดความรู้สึกว่า ตนเองต้องทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกัน เพียงเพื่อแลกกับรายได้จำนวนน้อย ในขณะที่ คนอื่น ๆ ทำงานเหมือนกัน แต่มีความสบายกว่า
ได้รับเงินเดือนมากกว่า เป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่ายในงานที่ทำอยู่ได้
ในความเป็นจริง ความเบื่อหน่ายในงานที่ทำ สามารถเกิดขึ้นได้กับ "ทุกอาชีพ" ไม่เฉพาะอาชีพที่ถูกจัดอันดับนี้เท่านั้น เราสามารถเบื่องานที่ทำได้จากสาเหตุต่าง ๆ
ซึ่งมักจะหนีไม่พ้นเหตุผลข้างต้นที่กล่าวไป แต่ทางออกของความเบื่อหน่ายนั้น อาจขึ้นอยู่กับ "ทัศนคติ" ต่องานที่ทำ และ "การปรับตัว" ให้เข้ากับงานที่ทำ มากกว่าการเปลี่ยนงาน
ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าเราจะทำงานได้อย่างมีความสุข และพึงพอใจในสิ่งที่ทำ
ปรับทัศนคติ "คิดบวกก็แก้เบื่อ" เป็นความจริงที่ว่า ถ้าเราเบื่องานที่ทำ ยิ่งบ่น ก็ยิ่งเบื่อ ความคิดว่าไม่อยากทำงานจะยิ่งทำให้เราหมดกำลังใจ และไม่อยากทำงาน ทำไปเพียงวัน ๆ ให้เสร็จตามหน้าที่ และรับรายได้
การที่เรายอมจำนนต่อการอยู่ในวงจรชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย นอกจากจะทำให้ความสุขลดลงแล้ว ยังทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตทรุดโทรมเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ทางที่ดีกว่า ถ้าเราเปลี่ยนงานไม่ได้ ให้เราลองเปลี่ยนมุมมองต่องานดู
โดยมองว่างานนั้นมีคุณค่า มีความสำคัญ มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กรหรืองานในภาพรวม และคิดเสมอว่า เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ให้ความสำเร็จของงานนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ถ้าเราคิดถูก แม้เราเป็นเพียงเด็กล้างจาน
เราก็สามารถล้างจานได้อย่างดีเลิศ จานที่สะอาดสะอ้านก็นำความสุขมาให้กับเราได้
ปรับตัวให้เข้ากับงาน "งานไม่น่าเบื่อ เพราะเราทำให้ไม่น่าเบื่อ" ความสนุกกับงานที่ทำนั้น ส่วนสำคัญอยู่ที่เราเป็นคนกำหนดขึ้นเอง เช่น คนกวาดถนนหลายคนกวาดถนนอย่างมีความสุข มีรอยยิ้ม ไม่รู้สึกว่าเบื่อแม้ต้องทำงานแบบเดิมทุกวัน
เคล็ดลับอยู่ที่ในขณะทำงาน เขาได้ทักทายผู้คน เขาได้นำอาหารมาให้สุนัขจรจัด เขาเก็บวัสดุรีไซเกิลไปขาย เขาให้กำลังใจคนไร้บ้านให้สู้ชีวิต แต่ละวันที่ผ่านไปจึงทำให้เขาทำงานได้อย่างมีความสุข และพบเห็นสิ่งใหม่ ๆ ได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ
เราทุกคนก็เช่นกัน หากเราลองมองหาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่ทำให้เรามีความสุขกับการทำงาน อาจเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน ขณะเดียวกันก็ทำงานได้อย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ ย่อมทำให้เรามีความสุขในสิ่งที่ทำได้
คำว่า "เบื่อ" จะไม่เกิดขึ้นในพจนานุกรมการทำงานของเราอีกต่อไป หากเราลบคำว่าเบื่อ ด้วยการมีทัศนคติคิดบวกและเรียนรู้ที่จะเติมความสุขให้กับงานเดิม ๆ ที่ต้องทำในแต่ละวัน