ถึงเวลาสำรวจตัวเอง AEC ทำอะไรดี

ถึงเวลาสำรวจตัวเอง AEC ทำอะไรดี

ถึงเวลาสำรวจตัวเอง AEC ทำอะไรดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในเวลานี้ หลายหน่วยงานให้ความสำคัญและกระตือรือร้นในการยกระดับคนไทย โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความพร้อมเมื่อเปิดเสรีอาเซียน

แต่สิ่งที่ทำยังมุ่งเน้นเรื่องการยกระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน และการยกระดับทักษะที่จำเป็นต่างๆ อาทิ ความพร้อมทางภาษา ทักษะฝีมือการทำงาน ฯลฯ

เรื่องเหล่านี้สำคัญและจำเป็น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามนั่นคือ การสำรวจตัวเอง และพิจารณาว่าเรามี "นิสัย" หรือ "วัฒนธรรรม" ใดบ้างที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน เมื่อประตูอาเซียนเปิดออก

หากเราพิจารณานิสัยคนไทย นิสัยหลายอย่างเป็นจุดเด่นที่ดี เช่น มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีนิสัยหลายอย่างที่สะท้อนการทำงานแบบ "ไม่มืออาชีพ"

ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในการทำงานระดับสากล เราลองสำรวจตัวเอง และหากเรามีนิสัยเช่นที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้อยู่บ้าง...ไม่ว่ามากหรือน้อย ให้เราตั้งใจเปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเอง เพื่อยกระดับนิสัยการทำงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ลักษณะนิสัยที่เราต้องเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง 

คนไทย "ขี้อาย" ไม่กล้าสื่อสาร ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

เราลองสำรวจตัวเอง หากคำกล่าวนี้มีส่วนจริง เช่น ตั้งแต่เรียนเราเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้ายกมือแสดงความคิดเห็น เป็นผู้ฟังที่ดี รับทุกอย่างที่อาจารย์สอน ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ เราอาจมีคำถามหรือความไม่เข้าใจอยู่ในใจ แต่ไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

อาจเป็นเพราะ อายไม่กล้าพูดต่อหน้าสาธารณะ หรือกลัวว่าหากพูดอะไรผิด ๆ ไปคนอื่นจะหัวเราะเยาะ และไม่ได้รับการยอมรับ หรืออาจเกรงว่าหากพูดไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ออกไปท่านอาจไม่พอใจได้ ดังนั้น จึงคิดว่าอยู่เฉย ๆ ดีกว่า โดยยึดสุภาษิตที่ว่า "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"

หากเรายึดสุภาษิตนี้ในการเรียนอาจไม่สร้างปัญหา แต่หากเราเป็นเช่นนี้ในการทำงาน ย่อมสร้างปัญหากับตัวเราแน่ ยกตัวอย่างเช่น หากเราไม่เข้าใจคำสั่งของหัวหน้างาน แต่ไม่กล้าถาม หรือไม่กล้าสื่อสารว่าทำได้หรือไม่ มีอุปสรรคใด

ไม่ว่าจะเกิดจากการกลัวเสียหน้า กลัวถูกหัวหน้าต่างชาติไม่พอใจ หรือไม่กล้าขัดจังหวะในที่ประชุม หัวหน้างานย่อมคิดว่าเราเข้าใจและสามารถทำตามสั่งได้ แต่ปรากฏว่าพอทำงานจริง กลับทำงานไม่ตรงกับที่ได้พูดคุยกันไว้ หรือทิ้งงานไปเฉย ๆ เพราะไม่สามารถทำได้

ผมรู้จักเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาทำงานร่วมกับคนไทย หลายคนได้พูดคุยกับผมเกี่ยวกับปัญหาหนึ่งที่พบเมื่อทำงานกับคนไทย นั่นคือ ในเวลาสนทนา ประชุม หรือสั่งงาน พนักงานคนไทยชอบพยักหน้าแสดงว่าตนเองเข้าใจ และมักไม่ค่อยถาม

จนทำให้การทำงานผิดไปจากคำสั่งที่ได้รับ และที่สำคัญ ในโลกปัจจุบันที่องค์กรการทำงานต้องการคนที่ "กล้าคิด" กล้านำเสนอไอเดียใหม่ ๆ หากเราคิดได้แต่ไม่แสดงออก ย่อมถูกตีความว่าเป็นพนักงานที่ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่มีการพัฒนา ไม่มี

การเปลี่ยนแปลงใหม่ หัวหน้างานย่อมเลือกเพื่อร่วมงานที่กล้าคิด กล้าพูด กล้าเปลี่ยนแปลงมากกว่าเรา ย่อมทำให้เราไม่เป็นที่ต้องการขององค์กรได้ในที่สุด

จำไว้ว่า...การพูดผิด แต่ทำให้คนเข้าใจถูก ดีกว่า การไม่พูด แต่ทำให้คนเข้าใจผิด

ดังนั้น ทางที่ดีกว่า เราจึงควรเปลี่ยนนิสัยให้เป็นคน "กล้าแสดงออก" กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าพูดในสิ่งที่ตนคิด โดยไม่ต้องกลัวคนไม่เข้าใจ ไม่ต้องกลัวเสียหน้า แต่ให้เรากลัว "เสียงาน" หากเราไม่พูดออกไปมากกว่า


คนไทย "ชอบทำงานคนเดียว" ทำงานเป็นทีมไม่เป็น

ผู้บริหารชาวต่างชาติท่านหนึ่ง ได้กล่าวถึงปัญหาที่ประสบเมื่อต้องทำงานร่วมกับคนไทยว่า พนักงานคนไทยไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ ถ้าทำงานเป็นทีมมักมีปัญหาเรื่องการเกี่ยงงาน การกินแรงเพื่อน บางคนทำงานหนัก บางคนทำน้อย พูดมาก และมักมีปัญหาขัดแย้งกันในทีม ไม่ช่วยเหลือกัน จนผลงานไม่สำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้

การขาดทักษะการทำงานเป็นทีม นับเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบ และเสียโอกาสด้านความก้าวหน้าในการทำงาน เพราะแม้จะเป็นคนที่เรียนเก่ง มีความรู้ความสามารถ แต่หากไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้

ย่อมไม่เป็นที่ต้องการขององค์กร เพราะแทนที่จะสร้างความก้าวหน้า กลับสร้างความถดถอยให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะที่สำคัญ เราจะไม่เป็นที่ต้องการขององค์กรที่บริหารโดยชาวต่างชาติ ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม ความเข้มแข็งของทีม มากกว่าการยกย่องชื่นชมคนเก่งเพียงคนเดียว

ดังนั้น หากเราต้องการเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการทำงาน ระดับสูงขึ้นไป เราจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะพื้นฐานของการทำงานเป็นทีม โดยขจัดลักษณะนิสัยที่เป็นอุปสรรคออกไป และพัฒนานิสัยใหม่ที่สนับสนุนการทำงานเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จ

อาทิ มีความคิดว่างานจะสำเร็จได้ต้องการความร่วมมือ ทุกคนในทีมเป็นเจ้าของและต้องทำร่วมกันจึงสำเร็จ จึงต้องคิดร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน รับฟังกันและกัน ต้องไม่กินแรง ไม่เกี่ยงงาน ไม่เล่นพรรคเล่นพวก ไม่อยากเด่นคนเดียว แต่ร่วมกันคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำงาน และคอยช่วยเหลือกัน จนกระทั่งงานนั้นสำเร็จ

คนไทยยังมีเอกลักษณ์ทางลักษณะนิสัยอีกหลายประการ ที่เมื่อนำมาคิดพิจารณาแล้วพบว่า อาจเป็น "อุปสรรค" ต่อการทำงานในอนาคต และเป็นสิ่งที่เราควรตั้งใจเปลี่ยนแปลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook