ไขคำตอบ ชิมช้อปใช้ เฟส 3 ทำไมรัฐบาลกันสิทธิ์ให้ผู้สูงอายุถึง 500,000 คน
หลังรัฐบาลกดปุ่มไฟเขียวเปิดโครงการชิมช้อปใช้ เฟส 3 ให้สิทธิ์ใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังในกระเป๋า 2 (G-Wallet) กับร้านค้าที่ร่วมโครงการได้ทุกจังหวัด เพื่อขอเงินคืน 15% เมื่อใช้จ่ายเงินไม่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท รับเงินคืน 20% รวมเงินคืนสูงสุด 8,500 บาท โดยกำหนดโควตาผู้เข้าร่วมโครงการไว้ 2 ล้านคน แบ่งเป็น 1,500,000 ล้านคนเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
ส่วนอีก 500,000 คนเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยรัฐบาลให้เห็นผลว่าโครงการชิมช้อปใช้ ทั้งเฟส 1-2 ผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการไม่ทันส่งผลให้พลาดขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังนั้น จึงได้กันสิทธิ์ 5 แสนคนไว้ให้กลุ่มผู้สูงอายุให้ลงทะเบียนเฉพาะวันที่ 17 พ.ย. นี้เท่านั้น
ทว่า...แท้จริงแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งของการกันสิทธิ์ให้ผู้สูงอายุ 500,000 คนนั้นน่าจะมาจาก "กำลังการใช้จ่าย" มากกว่า เพราะสัดส่วนผู้สูงอายุในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อยากรู้มั้ย? ว่ากำลังการใช้จ่ายต่อหัวของผู้สูงอายุอยู่ที่เท่าไหร่ และใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง Sanook Money มีคำตอบมาฝากกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และกำลังเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยเม็ดเงินที่หมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี โดยเบื้องต้นคำนวณจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุที่ราว 9,000 - 10,000 บาทต่อเดือน โดยเทรนด์สินค้าและบริการที่รองรับกลุ่มผู้สูงวัยมีหลากหลาย เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ สถานบริการผู้สูงวัย (Health Tech) หรือธุรกิจบริการรถเช่า ธุรกิจทัวร์ รวมถึงกลุ่ม Delivery เป็นต้น
หากเจาะรายละเอียดพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงอายุคนไทยนั้น บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจ และวิจัยทางการตลาดโลก ได้เผยผลสำรวจไว้ดังนี้
- การใช้จ่ายเพื่ออาหาร 95%
- การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ 78%
- ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 78%
- ซื้อเสื้อผ้า 73%
- ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย 73%
- การท่องเที่ยว 71%
ลองคิดดูเล่นๆ สมมติผู้สูงอายุลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ์ในโครงการชิมช้อปใช้ 1 คน ใช้เงินเที่ยวสูงสุด 10,000 บาท หากมีผู้สูงอายุรวมกันทั้งหมด 500,000 คน ใช้จ่ายเงินสูงสุด 10,000 บาท ก็เท่ากับว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและชุมชนกว่า 5,000 ล้านบาทแล้ว โดยผู้สูงอายุยังจะได้รับเงินคืน 15% เพราะใช้จ่ายจริงเพียงคนละ 10,000 เท่านั้น เท่ากับว่ารัฐบาลจะคืนเงินให้ผู้สูงอายุทั้ง 500,000 คน ที่ราว 750 ล้านบาท ตกคนละ 1,500 บาท ซึ่งก็ถือว่ากลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นอีกหนึ่งกำลังที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในโค้งสุดท้ายนี้ด้วย
>> ชิมช้อปใช้ 3 ลงทะเบียนอย่างไรถึงได้สิทธิ์ขอรับเงินคืนสูงสุด 20% พร้อมเผยทุกขั้นตอน
>> เผยรายละเอียด "ชิมช้อปใช้ เฟส 3" ให้สิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มบ้าง?
>> ชิมช้อปใช้ ไม่ต้อง “งง” วิธีโหลด-สมัครแอปฯ “เป๋าตัง” รับเงินเที่ยว 1,000 บาท
>> ชิมช้อปใช้ สแกนหน้ายืนยันตัวไม่ยากหากมี 5 ทริคนี้เพิ่มโอกาสผ่านฉลุย