“กิตติรัตน์” เร่งหาข้อสรุปลดผลกระทบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท อีก 70 จังหวัด
ในวันที่ 1 มกราคม 2556 หลังจากภาคเอกชนเสนอให้พิจารณา 7 ข้อ ยอมรับว่า มีความเห็นตรงกันในบางข้อ เช่น ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ลดค่าธรรมเนียมจ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับห้องพัก โรงแรม รีสอร์ท และการลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
สำหรับข้อเสนอขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นเวลา 3 ปี ยอมรับว่าระบบภาษีเป็นการบังคับใช้กับทุกคนทุกกลุ่มจะเลือกปฏิบัติกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคงไม่ได้ ภาคเอกชนเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเป็นมาตรฐานสากลของระบบภาษี คงปฏิบัติได้ยาก แต่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก เพราะต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบขยายเวลา 11 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทเดิม ที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงนำร่องปรับขึ้นค่าแรงงานใน 7 จังหวัด
เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่าน ออกไปอีก 1 ปี เช่น มาตรการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมที่เก็บจากนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายร้อยละ 5 ลดเหลือฝ่ายร้อยละ 4 แต่ยอมรับว่ายังมีบางมาตรการที่ต้องมีการหารือเพิ่มเติมเพราะต้องมีการขยายวงเงินด้วย
เช่น การปล่อยสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิตให้กับเอสเอ็มอี วงเงินช่วยเหลือ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาปล่อยกู้ 2 ปี แบ่งเป็นปีแรก 7,500 ล้านบาท และปีที่ 2 วงเงิน 12,500 ล้านบาท โดยต้องขยายเพิ่มเป็น 3 ปี ต้องมีวงเงินเท่าใด โดยทุกมาตรการจะเร่งให้คณะทำงานหารือกับภาคเอกชน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน และนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป