แบกเข้าไป! Gen Y หมดเงินกับ "ของมันต้องมี" ก่อหนี้ท่วมหัว เงินออมร่อยหรอก่อนตายตาหลับ
ทีเอ็มบีเฉลย กลุ่มคน Gen Y แบกหนี้หัวละ 432,000 บาท เหตุมาจากใช้เงินซื้อสินค้า "ของมันต้องมี" เกาะกระแสสังคม หลังกลัวเชย
แค่ได้ยินคำว่า “หนี้” คงไม่มีใครอยากมีหรืออยากได้เท่าไหร่นัก ยิ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยตามเทรนด์แล้วล่ะก็ ยิ่งทำให้เงินออมที่จำเป็นต้องเก็บไว้ใช้ในอนาคตยิ่งร่อยหรอลงทุกที่ จนเรามักจะได้ยินคำเหน็บแนมกันว่า
“กว่าจะรวยมีเงินถึงล้านอาจตายก่อนพอดี”
แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า ปริมาณหนี้ต่อหัวเริ่งขึ้นในกลุ่มคนที่มีอายุประมาณปลาย 20-30 ปี และยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดอายุการทำงาน ที่สำคัญระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ สะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงของชีวิต
โดยกลุ่มคนที่มีช่วงอายุปลาย 20-30 ปี ก็คือกลุ่ม Gen Y ที่เติบโตมาควงคู่กับโซเชียลมีเดียนั่นเอง ซึ่งการใช้จ่ายซื้อสินค้าของคนกลุ่มนี้หมดเงินไปกับอะไรบ้าง ต้นเหตุของการสร้างหนี้คืออะไร ค่าใช้จ่ายต่อหัวปีหนึ่งเป็นจำนวนเท่าไหร่ หากเทียบค่าใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้สามารถทำอะไรให้เมะกะโปรเจกต์ระดับชาติได้บ้าง Sanook Money มีข้อมูลดีๆจาก นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ TMB มาฝากกัน
“ของมันต้องมี” ดับความฝันหนุ่ม-สาว Gen Y ดันหนี้พุ่งโดยไม่รู้ตัว
นายนริศ เล่าว่า พฤติกรรมด้านการเงินกลุ่มคน Gen Y ช่วงอายุ 23-30 ปี ส่วนใหญ่ฝันที่จะมีบ้าน รถ และเงินเก็บก่อนอายุ 40 ปี แต่ว่าในความเป็นจริงตรงกันข้าม เพราะเงินส่วนใหญ่ที่จะเอาไว้ใช้ในอนาคตกลับถูก "ดูด" มาใช้จ่ายกับ "ของมันต้องมี" กว่า 69% ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ, เสื้อผ้า, เครื่องสำอาง, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, กระเป๋า, นาฬิกา และเครื่องประดับ หากคำนวณค่าใช้จ่ายของกลุ่ม Gen Y คร่าวๆ จะพบว่าปีหนึ่งพวกเขาสูญเงินไป 95,518 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อปีของกลุ่มเหล่านี้ เมื่อนำมาเทียบกับรายได้ 377,694 บาทต่อปี คิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี
กลัว "OUT" ก็เลย "ต้องมี" หนุนสร้างหนี้บัตรเดบิต-เครดิต เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่ม Gen Y
นายนริศ เล่าสาเหตุที่ทำให้กลุ่ม Gen Y หมดเงินไปกับ "ของมันต้องมี" จนสร้างหนี้โดยไม่รู้ตัวว่าเกิดจากการซื้อตามเทรนด์ เพราะถ้าของที่ใช้อยู่ในตอนนี้ไม่ตามเทรนด์ถือว่าเชย (OUT) ซึ่งคนที่ซื้อตามเทรนด์ในกลุ่มนี้มีประมาณ 42% มากกว่าการซื้อสิ่งของที่จำเป็น 37% ซึ่งเงินที่ใช้ซื้อของเหล่านี้มาจากการกู้เงินผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยใช้บัตรเครดิต-บัตรเอทีเอ็ม ซึ่งมีมากกว่า 70% ของคนกลุ่ม Gen Y ที่ต้องผ่อนชำระสินค้า-บริการรวมถึงดอกเบี้ยอีกด้วย หากคิดเป็นจำนวนคนก็ราว 3.7 ล้านคนที่ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย-ค่าผ่อนสินค้า
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย เผยกลุ่มคน Gen Y มีการกู้เงิน 7.2 ล้านคน คิดเป็น 50% ของกลุ่มนี้ทั้งหมด มีภาระหนี้เฉลี่ยคนละ 423,000 บาท มีหนี้เสีย 1.4 ล้านคน คิดเป็น 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระ
เม็ดเงินกลุ่ม Gen Y ใช้จ่ายแต่ละปี ดันภาพรวมเศรษฐกิจไทยติดจรวดพุ่งปรี๊ด!
นายนริศ บอกว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อ "ของมันต้องมี" ในกลุ่ม Gen Y มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2551-2560 มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 112% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท หากเทียบกับโครงการเมะกะโปรเจกต์ระดับชาติแล้วล่ะก็ เท่ากับว่าสามารถสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ถึง 8 สาย, งบลงทุนใน EEC รวมกัน 5 ปี (91%) หรือแม้กระทั่งทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากถึง 13% เลยทีเดียว
ลองคิดดูเล่นๆ หาก "ของมันต้องมี" เหล่านี้เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เท่ากับว่าเม็ดเงินทุกคนโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ก็จะช่วยกระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก ดันภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น แต่กลับหันหากเป็นของที่ผลิตจากต่างประเทศและนำเข้ามาในไทยเท่ากับว่าเม็ดเงินดังกล่าวไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ และยังเป็นการเอาไปจมกับของที่ไม่จำเป็นอีกต่างหาก
ทางแก้ Gen Y มีเงินใช้ก่อนตายตาหลับโดยปราศจากหนี้
สำหรับทางออกของคนกลุ่ม Gen Y นั้น นายนริศ มองว่าควรลดพฤติกรรมการซื้อ "ของมันต้องมี" ให้ได้ไม่เกิน 50% ควบคู่กับการวางแผนเก็บเงินให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีเงินเพิ่มขึ้นปีละ 43,000 บาท และยังช่วยให้สามารถซื้อสินทรัพย์ที่ฝันไว้ได้ในอีกระยะเวลา 10-30 ปีอีกด้วย