เลื่อนเปิดอาเซียน AEC ออกไป ! ...จะดีหรือ ?

เลื่อนเปิดอาเซียน AEC ออกไป ! ...จะดีหรือ ?

เลื่อนเปิดอาเซียน AEC ออกไป ! ...จะดีหรือ ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข่าวผลการสำรวจของสำนักโพลแห่งหนึ่งถึงความพร้อมในการปรับตัวของผู้ส่งออกเอสเอ็มอี (SMEs) ไทยเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)

ที่ระบุว่า มีผู้ประกอบการถึงร้อยละ 60 ของ SMEs ไทยจากทั้งหมด 2.9 ล้านราย ยังไม่มีการปรับตัวเพื่อรองรับ AEC แต่อย่างใด

โดยประมาณร้อยละ 42 รอการช่วยเหลือจากภาครัฐ เกือบร้อยละ 30 ระบุว่า ไม่ทราบข้อมูล และต้องการข้อมูลที่ชัดเจนที่เกี่ยวข้องกับ AEC มีเพียงผู้ประกอบการประมาณร้อยละ 7 เท่านั้นที่ยืนยันว่าได้มีการปรับตัวเพื่อรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว และส่วนท้ายของข่าวรายงาน ว่านักวิชาการที่สำรวจสนับสนุนให้มีการเลื่อนเปิดอาเซียน หรือ AEC ออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการปรับตัว

ประกาศเลื่อนกำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community) ออกไปอีกเป็นเวลา 12 เดือน จากเดิมวันที่ 1 มกราคม 2015 ไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2015

ลองมาพิจารณาดู ว่าหากมีการเลื่อนเปิดอาเซียน หรือ AEC ออกไป จะเกิดผลกระทบทางบวกและทางลบอย่างไรบ้าง ขอเริ่มที่ผลกระทบทางลบก่อน

1.หากประเทศไทยแสดงเจตจำนงขอเลื่อนการรวมตัวเป็น AEC ออกไป ในขณะที่อีก 9 ประเทศสมาชิกที่เหลือยังยืนยันเจตนารมณ์เดิม

ประเทศไทยย่อมเสียเปรียบในหลายมิติอย่างแน่นอน เช่น สูญเสียโอกาสทางการตลาดในอาเซียน เป็นต้น และที่สำคัญเป็นการเปิดเผยจุดอ่อนให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ต่างรับรู้ว่าประเทศไทยนั้นยังไม่มีความพร้อมในการปรับตัวเอาเสียเลย

จริงอยู่ที่ประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมืองในระดับที่สูงกว่าในอดีต ก็น่าจะมีระดับของความพร้อมในการปรับตัวมากกว่าประเทศอื่น แต่ในความเป็นจริง หลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เชื่อได้ว่าระดับความพร้อมในการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ของแต่ละประเทศในอาเซียนนั้น ไม่น่าแตกต่างกันมากนัก

ยิ่งกว่านั้นไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการ SMEs ของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) จะสามารถปรับตัวและสร้างความพร้อมเพื่อรองรับ AEC ได้ดีกว่าผู้ประกอบการ SMEs ไทยอย่างมีนัย

ซึ่งกลุ่มประเทศ CLMV ไม่เคยแสดงเจตจำนงของการเลื่อนการรวมตัวเป็น AEC ออกไปเลย ในทางกลับกันกลับแสดงเจตจำนงขอเลื่อนการเข้าเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) เร็วขึ้นจากปี พ.ศ. 2563 เป็น พ.ศ. 2558 เสียด้วยซ้ำ เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มองเห็นโอกาสและผลประโยชน์มหาศาลของการเป็นประชาคมอาเซียนโดยแท้

2.จากผลการสำรวจ รวมไปถึงข้อเสนอของการเลื่อนการรวมตัวเป็น AEC ออกไป ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจ AEC อย่างคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องนัก

แท้จริงแล้วองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ AEC คือเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 กรอบการตกลงด้านการค้าบริการ (AFAS) เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน (AIA) มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 รวมไปถึงธุรกิจบริการอย่าง สาขาบริการด้านคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม และธุรกิจท่องเที่ยวและสุขภาพ มีผลภายใต้กรอบ AEC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553

จะเห็นได้ว่าส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามข้อตกลงของ AEC มีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศไทยกำลังเดินอยู่บนถนน AEC หาได้ก้าวเข้าสู่ AEC อย่างที่เข้าใจ

แต่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนหรือ AC ต่างหาก และนี่คือที่มาของความจำเป็นของคนไทยที่ต้องรู้จักปรับตัวเพื่อรองรับ AC ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น การเลื่อนการรวมตัวเป็น AEC ออกไป ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย และข้อเสนอดังกล่าวดูจะสร้างความสับสน และความเข้าใจผิดเพิ่มขึ้นในสังคมไทยอย่างมาก

3.หากมีการเลื่อนการรวมตัวเป็น AEC ออกไปอีก 1 ปีจริงตามข้อเสนอ ก็ไม่มีสิ่งใดจะยืนยันได้ว่าอีก 1 ปีข้างหน้านั้น ผู้ประกอบการ SMEs ไทย จะมีการปรับตัวจนมีระดับความพร้อมเพียงพอ

และที่สำคัญต้องทำความเข้าใจว่า วันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันแรกของการเป็นประชาคมอาเซียน และเป็นวันเริ่มต้นที่แต่ละประเทศจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอีกหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้สอดรับ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน

สหภาพยุโรปถือเป็นอีกหนึ่งแม่แบบของการรวมตัวทางเศรษฐกิจในรูปแบบประชาคม กำเนิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2535 จวบจนวันนี้ผ่านไปกว่า 20 ปี แต่ละประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปยังคงต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงในอีกหลาย ๆ ด้านเพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป

ดังนั้น แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนจึงควรเริ่มปรับตัวเพื่อสร้างความพร้อมเสียแต่วันนี้ และให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต แต่หากยังคงเลื่อนการรวมตัวออกไป ย่อมไม่ส่งผลดีต่อภูมิภาคนี้เป็นแน่

ผลกระทบทางบวกของการเลื่อนการรวมตัวเป็น AEC ออกไป ดูเหมือนจะมีอยู่เพียงประการเดียว คือมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นสำหรับการปรับตัวเพื่อสร้างความพร้อม หากแต่ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ไม่มีสิ่งใดยืนยันว่าการเลื่อนการรวมตัวออกไป จะส่งผลให้ระดับความพร้อมของผู้ประกอบการ SMEs ไทยเพิ่มสูงขึ้นจริง และที่สำคัญต้องคำนึงว่านโยบายการรวมตัวทางเศรษฐกิจ อย่างการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนนั้น เป็นนโยบายระดับภูมิภาค

กล่าวคือ วัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่ตั้งไว้ รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคจากนโยบายนี้ จะสัมฤทธิผลได้จำต้องได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากผู้บริหารประเทศที่เป็นสมาชิก ผู้ที่จะร่วมกำหนดทิศทาง รวมไปถึงมาตรการต่าง ๆ คือ ผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิก หาใช่เป็นนโยบายระดับประเทศอย่างนโยบายคืนภาษีรถคันแรก นโยบายรับจำนำข้าว ฯลฯ ที่ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งผู้บริหารประเทศมีอำนาจโดยตรงในการตัดสินใจออกมาตรการต่าง ๆ

จึงกล่าวได้ว่าคนไทยทุกภาคส่วนจำต้องเดินหน้าในการปรับตัวเพื่อสร้างความพร้อมสำหรับการเป็นประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ภาครัฐต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งข้อมูล สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ รวมไปถึงผลกระทบต่าง ๆ จากการเป็นประชาคมอาเซียน ให้กับภาคเอกชน ในขณะที่ภาคเอกชนก็ต้องเปิดใจยอมรับกับการปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

ภาคส่วนวิชาการเองก็มีความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องประชาคมอาเซียน ไม่สร้างความสับสนหรือนำไปสู่ความเข้าใจที่

คลาดเคลื่อนให้กับสังคม ทั้งนี้ เพราะประชาคมอาเซียนคือ ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของแต่ละประเทศสมาชิก ถ้าประเทศใดมีระดับความพร้อมยืดหยุ่นในการปรับตัวสูง ประชาคมอาเซียนจะคือโอกาสในการได้รับผลประโยชน์มหาศาลของประเทศนั้น แต่หากประเทศใดมีระดับความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่ำ โอกาสอันดีก็จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นวิกฤตนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook