กฟน. อวดโฉมอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในไทย คาดแล้วเสร็จปลายปี 63
นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA พร้อมเจ้าหน้าที่ MEA นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing ชิดลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง3.6 เมตร ซึ่งเป็นอุโมงค์เชื่อมต่อระบบจ่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานเพลินจิต
รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงเร่งสร้างพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร Smart Metro พัฒนาความมั่นคงปลอดภัยความสะดวกสบายให้แก่ประชาชนโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการสำคัญในการวางแผนงานระบบไฟฟ้าอนาคตเนื่องจากเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร อยู่ลึกประมาณ 30 เมตร ซึ่งประกอบด้วยอุโมงค์จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 จากสถานีต้นทางชิดลมไปยังสถานีย่อยลุมพินี เพื่อเชื่อมต่อระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจากสถานีต้นทางชิดลมไปยังสถานีย่อยต่างๆ และผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น สถานีย่อยลุมพินี สถานีย่อยปทุมวัน สถานีย่อยสามย่าน โครงการ One Bangkok เป็นต้น เส้นทางที่ 2 จากสถานีต้นทางชิดลมไปตามถนนสุขุมวิทจนถึงพื้นที่ย่านศูนย์การค้า Central Embassy เพื่อเชื่อมต่อระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจากสถานีต้นทางชิดลมไปยังสถานีย่อยต่างๆ และผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น สถานีย่อยพร้อมพงษ์ สถานีย่อยเอกมัย โครงการ Central Embassy เฟส 2 รวมมีความยาวของอุโมงค์ทั้งสิ้นประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มเส้นทางการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดินให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองมหานครมากขึ้น จากปัจจุบันที่สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 180 เมกะวัตต์ ให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 1,025 เมกะวัตต์
ในด้านการก่อสร้างนั้น โครงการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันมีความคืบหน้าในการขุดเจาะอุโมงค์สำเร็จเป็นจำนวนระยะทางทั้งสิ้น 1,700 เมตร พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างด้วยรูปแบบ Shielded Tunneling หรือการติดตั้งผนังอุโมงค์ได้ในคราวเดียวกัน และภายในปี 2562 คาดว่าจะสามารถขุดเจาะอุโมงค์แล้วเสร็จทั้งหมด จากนั้นจึงดำเนินการในขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์รองรับการพาดสายไฟฟ้าแรงสูง การติดตั้งระบบความปลอดภัยต่าง ๆภายในอุโมงค์ไฟฟ้า เช่น ระบบป้องกันความปลอดภัยในกรณีเกิดอุทกภัยด้วยระบบระบายน้ำ (Drainage pump system) และการก่อสร้างทางลงอุโมงค์ในระยะพ้นน้ำ (Freeboard) ในขนาดความสูง 1.20 เมตร รวมถึงติดตั้งระบบแจ้งเตือนอัคคีภัย และระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ จากนั้นจึงเชื่อมโยงระบบสายไฟฟ้าแรงสูงภายในอุโมงค์กับระบบศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA ของ MEA พร้อมกับเชื่อมต่อการจ่ายระบบไฟฟ้าระหว่างสถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลม ขนาดแรงดัน 230 กิโลโวลต์ ต่อไป
สำหรับประโยชน์จากการดำเนินการโครงการเพิ่มเส้นทางการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าแรงสูงในอุโมงค์ขนาดใหญ่ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมืองที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ลดความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าแรงสูงบนพื้นดิน เช่น อุบัติเหตุ ตลอดจนลดผลกระทบจากพายุฝน หรือลมพายุในฤดูกาลต่าง ๆ รวมถึงยังรองรับการเชื่อมต่อสายไฟฟ้าแรงสูงกับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนการเชื่อมต่อกับท่อร้อยสายไฟฟ้าที่ MEA ก่อสร้างร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าในถนนเพลินจิต ถือเป็นการดำเนินการที่เชื่อมโยงครอบคลุมแบบบูรณาการทำให้เกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน 230 กิโลโวลต์ ขนาดใหญ่ของ MEA ทั้งหมดในปัจจุบัน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 6 โครงการ ได้แก่
1) โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินวิภาวดี ก่อสร้างเสร็จปี 2545 เชื่อมต่อการจ่ายระบบส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ จากสถานีต้นทางลาดพร้าวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มายังสถานีต้นทางวิภาวดีของการไฟฟ้านครหลวง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร มีระยะทางยาวประมาณ 8 กิโลเมตร เพื่อจ่ายไฟให้กับสถานีต้นทางวิภาวดี โดยแปลงแรงดันเป็น 69 และ 115 กิโลโวลต์ เพื่อส่งออกไปยังสถานีย่อยไฟฟ้าต่างๆ ผ่านโครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินOutgoing วิภาวดี
2) โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing วิภาวดี ก่อสร้างเสร็จปี 2546 เชื่อมต่อการจ่ายระบบไฟฟ้าระหว่างสถานีต้นทางวิภาวดี ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร มีระยะทางยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตรรองรับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริเวณย่านศูนย์การค้าและธุรกิจที่สำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เขตดินแดง เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เป็นต้น
3) โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินบางกะปิ-ชิดลม ก่อสร้างเสร็จปี 2552 เชื่อมต่อการจ่ายระบบส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เพื่อนำพลังไฟฟ้าจากสถานีต้นทางบางกะปิของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมายังสถานีต้นทางชิดลมของการไฟฟ้านครหลวง มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร มีระยะทางยาว 7 กิโลเมตร เพื่อจ่ายไฟให้กับสถานีต้นทางชิดลมโดยแปลงแรงดันเป็น 69 และ 115 กิโลโวลต์ เพื่อส่งออกไปยังสถานีย่อยต่างๆ ผ่านโครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing ชิดลม
4) โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินคลองพระโขนง ก่อสร้างเสร็จเมื่อ ต.ค. ปี 2562 เชื่อมต่อการจ่ายระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าระหว่างสถานีต้นทางบางกะปิ ไปยังสถานีย่อยบางจาก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร มีระยะทางยาวประมาณ 0.8 กิโลเมตร รองรับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริเวณย่านศูนย์การค้าและธุรกิจที่สำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เขตพระโขนง เขตบางกะปิ ถนนอ่อนนุช ถนนสุขุมวิท เป็นต้น
5) โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing ชิดลม จะก่อสร้างเสร็จประมาณปลายปี 2563 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร มีระยะทางทั้งสิ้น 1.8 กิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วยอุโมงค์จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 จากสถานีต้นทางชิดลมไปยังสถานีย่อยลุมพินี และเส้นทางที่ 2 จากสถานีต้นทางชิดลมไปตามถนนสุขุมวิทจนถึงพื้นที่ย่านศูนย์การค้า Central Embassy รองรับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริเวณย่านศูนย์การค้าและธุรกิจที่สำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เขตลุมพินี เขตคลองเตย เขตปทุมวัน เป็นต้น
6) โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินคลองด่าน จะก่อสร้างเสร็จประมาณกลางปี 2565 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร ระยะทางทั้งสิ้น 2.79 กิโลเมตร เชื่อมต่อการจ่ายระบบไฟฟ้าระหว่างสถานีต้นทางคลองด่าน ถึงถนนเทพารักษ์รองรับการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริเวณย่านอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น อำเภอบางบ่อ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในอนาคต MEA ยังมีโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 โครงการ คือ
1.โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing สถานีต้นทางบางพลี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร
2.โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing สถานีต้นทางบางซื่อ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร
3.โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing สถานีต้นทางลาดพร้าว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร
4.โครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดิน Outgoing สถานีต้นทางเอราวัณ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.2 เมตร ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละโครงการที่ MEA ดำเนินก่อสร้างสายไฟฟ้าใต้ดิน ได้วางแผนบริหารจัดการจราจรร่วมกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการการเข้าพื้นที่และการจราจรให้การดำเนินการก่อสร้างเสร็จโดยเร็วตามแผนงาน ส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่ง MEA ได้จัดทำแผนงานประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาดำเนินการ โดยจะมีการลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลของแผนงานกับประชาชนในพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างหรือใกล้เคียงให้ได้รับทราบก่อนดำเนินการก่อสร้าง โดยหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียของ MEA หรือศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ตลอด 24 ชั่วโมง
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ