สำรวจแรงงานนอกระบบ 24.8 ล้านคน รายได้เฉลี่ยแค่ 5 พัน ต่อเดือน

สำรวจแรงงานนอกระบบ 24.8 ล้านคน รายได้เฉลี่ยแค่ 5 พัน ต่อเดือน

สำรวจแรงงานนอกระบบ 24.8 ล้านคน รายได้เฉลี่ยแค่ 5 พัน ต่อเดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงรอยต่อก่อนปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเฟสที่ 2 อีก 70 จังหวัดทั่วประเทศ วันที่ 1 มกราคม 2556 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจเก็บรวบรวมข้อมูลแรงงานนอกระบบในไตรมาสที่ 3 ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2555

ที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ข้อมูลแก่หน่วยงานด้านการวางแผนและการกำหนดนโยบาย และเป็นฐานข้อมูลในการขยายความคุ้มครองและการประกันสังคมให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ

เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้เข้าถึงการประกันสังคม และความคุ้มครองการทำงาน ได้รับความเป็นธรรม มีความมั่นคงในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากการสำรวจภาวะการทำงานโดยมีครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้น 83,800 ครัวเรือน แยกเป็นในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 4,800 ครัวเรือน ในเขตเทศบาล 48,960 ครัวเรือน และนอกเขตเทศบาล 34,920 ครัวเรือน

พบว่ามีแรงงานที่ทำงาน แต่ไม่ได้รับหลักประกันใด ๆ จากการจ้างงาน ไม่มีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการจากการทำงานที่พึงได้จากผู้ว่าจ้างงาน ซึ่งถือเป็นแรงงานนอกระบบร้อยละ 62.6 ของผู้ทำงานทั้งหมด 39.6 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่ทำงานในประเทศไทยยังได้รับความไม่เท่าเทียมกันจากการทำงานอยู่จำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้าน พอสรุปได้ดังนี้

จำนวนแรงงานนอกระบบ

ผลการสำรวจในปี 2555 พบว่าในจำนวนผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน เป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือเรียกว่าแรงงานนอกระบบ 24.8 ล้านคน หรือร้อยละ 62.6 ที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 14.8 ล้านคน หรือร้อยละ 37.4 สำหรับแรงงานนอกระบบ เมื่อพิจารณาตามเพศพบว่า เพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย คือเพศชาย 13.4 ล้านคน หรือร้อยละ 54.0 และเพศหญิง 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 46.0 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด

นอกจากนั้น ยังพบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ร้อยละ 41.5 รองลงมาเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 21.7 ภาคกลาง ร้อยละ 18.1 ภาคใต้ ร้อยละ 13.6 และ กทม.มีแรงงานนอกระบบน้อยที่สุด ร้อยละ 5.1

ระดับการศึกษาแรงงานนอกระบบ

สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบ พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามากที่สุดประมาณ 15.9 ล้านคน หรือร้อยละ 64.0 รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษา 7.1 ล้านคน หรือร้อยละ 28.6 และระดับอุดมศึกษา 1.8 ล้านคน หรือร้อยละ 7.3 จะเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับแรงงานในระบบ ดังนั้นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาแก่แรงงานนอกระบบ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับสถานภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบให้ดีขึ้น

รายได้เฉลี่ยแค่ 5 พันบาท

เมื่อพิจารณาถึงประเภทการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่าแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยมีถึง 15.5 ล้านคน หรือร้อยละ 62.5 รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและการบริการ ร้อยละ 28.3 และภาคการผลิต ร้อยละ 9.2

สำหรับค่าจ้างหรือเงินเดือนของแรงงานนอกระบบ ค่าจ้างเฉลี่ย 5,045 บาท/เดือน พิจารณาตามอุตสาหกรรม แรงงานนอกระบบที่อยู่ในสาขาเกษตรกรรมซึ่งมีมากที่สุด กลับได้ค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 3,870 บาท/เดือน ขณะที่แรงงานนอกระบบที่อยู่ในสาขากิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 10,000 บาท/เดือน รองลงมาเป็นสาขากิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศ 9,000 บาท/เดือน และสาขางานด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 7,743 บาท/เดือน

การได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน

สำหรับการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงานของแรงงานนอกระบบในปี 2555 มีจำนวน 4.0 ล้านคน โดยลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บเกิดจากการถูกของมีคมบาดมากที่สุด ร้อยละ 67.9 รองลงมาเป็นการพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 14.6 การชนและกระแทก ร้อยละ 8.0 ไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ร้อยละ 4.0 อุบัติเหตุจากยานพาหนะ ร้อยละ 2.7 ได้รับสารเคมีเป็นพิษ ร้อยละ 1.8 และไฟฟ้าชอร์ต ร้อยละ 0.6

หากพิจารณาแรงงานนอกระบบที่ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุในปี 2555 พบว่ามีจำนวนเฉลี่ยวันละ 10,927 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2554 (เฉลี่ยวันละ 10,003 คน) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นนายจ้างควรเข้ามาดูแลและสร้างความปลอดภัยจากการทำงานให้แก่แรงงานนอกระบบมากขึ้น

ปัญหาของแรงงานนอกระบบ

ผลจากการสำรวจแรงงานนอกระบบต่อปัญหาต่าง ๆ จากการทำงานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา พบว่าปัญหาจากการทำงานที่แรงงานนอกระบบต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือปัญหาการเกี่ยวกับค่าตอบแทน ร้อยละ 44.0 รองลงมาเป็นทำงานหนัก ร้อยละ 24.8 และงานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 19.2 ที่เหลือเป็นอื่น ๆ เช่น ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ ชั่วโมงทำงานมากเกินไป และลาพักผ่อนไม่ได้ เป็นต้น

สำหรับปัญหาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แรงงานนอกระบบประสบมากที่สุด คืออิริยาบถในการทำงาน (ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ 48.2 มีฝุ่น ควัน กลิ่น ร้อยละ 17.6 และมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ร้อยละ 16.4

ปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่ได้รับสารเคมีเป็นพิษ ร้อยละ 66.8 เครื่องจักร เครื่องมือที่เป็นอันตราย ร้อยละ 20.0 และทำงานในที่สูง/ใต้น้ำ/ใต้ดิน ร้อยละ 4.6

เทียบการเปลี่ยนแปลงช่วงปี50-55

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2555 พบว่า สัดส่วนผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยในช่วง 2551-2552 มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ประมาณร้อยละ 63.7 และ 63.4 ในปี 2553 ลดลงเป็นร้อยละ 62.3 แต่ในปี 2554-2555 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62.6 และ 62.7 ตามลำดับ

สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา ตามลำดับ

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงปี 2550 ถึงปี 2555 แรงงานนอกระบบที่เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษามีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอัตราค่อนข้างช้า จะเห็นว่าระดับการศึกษาของแรงงานนอกระบบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาก็ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของผู้มีการศึกษาไม่สูงนัก

พิจารณาตามอุตสาหกรรมในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม พบว่าตั้งแต่ปี 2550-2555 สัดส่วนแรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมประมาณร้อยละ 37.5-40.0 อยู่นอกภาคเกษตรกรรมร้อยละ 60.0-62.5 โดยในปี 2552-2553 แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนลดลง แต่ในปี 2554 และ 2555 เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook