ประกันสังคม ขยายอายุผู้สมัครมาตรา 40 จากเดิมอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ขยายคุณสมบัติของบุคคลที่สมัครเข้าประกันตนตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม จาก “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์” เป็น “ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์” สืบเนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและยังมีสุขภาพแข็งแรงสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพอิสระได้ และเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าประกันตนตามมาตรา 40 คือ เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกษตรกร รวมไปถึงพนักงานอิสระต่างๆ
จากการประมาณการข้อมูลประชากรเพศชายเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 61-65 ปี จำนวน 4 ล้านคน ในปี 63 คาดว่าจะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 63,768 คน เป็นเพศชาย 1.4% เพศหญิง 1.75% จำนวนเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลคิดเป็น 45,147,600 บาท การประกันตนมีสามทางเลือกด้วยกันคือ
- ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท
- ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท
- ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับ เช่น เจ็บป่วยจะได้รับค่าชดเชยวันละ 300 บาท (ไม่เกิน 30 วันต่อปี) หากทุพพลภาพจะได้รับเงินทดแทน กรณีเสียชีวิตได้รับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินและระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ