ร้านอาหารที่ลิซ่า BLACKPINK ใช้บริการ-ถ่ายรูปลงไอจีส่วนตัว ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?
ร้านอาหารที่ล่วงเกิน ลิซ่า BlackPink ต้องจัดทำภาษีและเสียภาษีอะไรบ้างกับกรมสรรพากร
กลายเป็นกระแสดราม่ารับปีหนูทอง เมื่อเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งโพสต์แซว ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หนึ่งในสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง BLACKPINK จนเกินงามทำให้เหล่าแฟนคลับ รวมถึงชาวเน็ตแห่คอมเม้นต์ติงเจ้าของร้านว่าไม่เหมาะสม
>> เจ้าของร้านโพสต์ล่วงเกิน ลิซ่า BLACKPINK หงายการ์ดขอโทษแล้ว
แม้ว่าทางเจ้าของร้านอาหารดังกล่าวจะออกมาขอโทษ และแก้ไขโพสต์ไปแล้วก็ตามแต่ก็ยากที่จะแก้ไขในภายหลัง เพราะล่าสุดเพจเฟซบุ๊กร้านดังกล่าวได้ปลิวไปเสียแล้ว
ร้านอาหารที่ ลิซ่า BLACKPINK โพสต์รูปลงไอจีถือเป็นธุรกิจร้านอาหาร-คาเฟ่-บาร์ เปิดเมื่อปี 2018 ให้บริการในช่วงเย็นถึงค่ำ แน่นอนว่าการทำธุรกิจใดๆ ต้องได้รับการจดทะเบียนทุกครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่จดทะเบียนก็จะส่งผลต่อการทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคต เช่น การขอสินเชื่อต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการจดทะเบียนร้านอาหารเป็นการเข้าสู่ระบบภาษีเพื่อรายงานต่อกรมสรรพากร เช่นเดียวกับร้านขายแอลกอฮอล์ก็ต้องดำเนินการด้วย เพราะต้องขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มจากกรมสรรพสามิตด้วย แต่รู้มั้ย? ว่าร้านอาหารที่เป็นประเด็นดราม่าจะต้องเสียภาษีอะไรบ้าง Sanook Money มีคำตอบมาฝากกัน
ข้อมูลจาก คลินิกภาษี กระทรวงการคลัง ระบุว่า ธุรกิจร้านขายอาหารเมื่อเริ่มธุรกิจ และจำหน่ายอาหารได้ก็จะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับภาษี ดังนี้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง ได้แก่
- ครั้งแรก ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในเดือนกันยายน สำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-มิถุนายน
- ครั้งที่ 2 ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.90 ในเดือนมีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ในเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องยื่นแบบชำระภาษีต่อกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่หรือทางอินเทอร์เน็ตปีละ 2 ครั้ง ได้แก่
- ภาษีเงินได้สิ้นรอบระยะเวลาบัญชียื่นตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยนำภาษีที่จ่ายในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้เมื่อสิ้นรอบเวลาบัญชี
- ภาษีเงินได้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชียื่นตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับแต่วันครบ 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชี
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- เราต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อและออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อเมื่อส่งมอบสินค้า
- เรามีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ รายงานภาษีขาย และยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
สรุปแล้ว จากข้อมูลที่พอลัดเลาะหามาได้ พบว่า ร้านอาหารดังกล่าวที่เป็นประเด็นดราม่าอาจจะต้องเสียภาษี 2 ตัว ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มร้านค้าต้องจัดทำรายงาน และยื่นแบบฟอร์ม
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ