"แนวเวนคืนทั่วไทย" ลุยเมกะโปรเจ็กต์ รถไฟฟ้า-ไฮสปีดเทรน-มอเตอร์เวย์
ผลพวงจากปี 2556 ที่รัฐบาลจะโหมโรงลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ทั้งรถไฟฟ้า ทางด่วน มอเตอร์เวย์ ทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในสังกัดกระทรวงคมนาคม
ต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมา เพื่อให้งานเสร็จตามแผนงานรัฐบาลที่วางเป้าไว้
จุดไฮไลต์แนวเวนคืนที่กระทบคนในพื้นที่มีหลายโครงการ กระจายครอบคลุมทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล หัวเมืองใหญ่
สายสีเขียวจอง ถ.พหลโยธิน
เริ่ม จากรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วง "หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต" ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องเร่งออก พ.ร.ฎ.เวนคืนก่อนประมูลก่อสร้างภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ตามแนวเส้น ทางแม้จะสร้างบนเกาะกลางถนนพหลโยธินเป็นหลัก แต่มีสิ่งกีดขวางที่ต้องรื้อและสร้างใหม่ทดแทน ล่าสุด "รฟม." หารือกับ "กทม." รื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่งคือ รัชโยธิน-เสนา-เกษตรศาสตร์ เพื่อไม่ให้โครงสร้างสะพานทับซ้อนกับรถไฟฟ้า โดย "แยกรัชโยธิน" ทุบสะพานทิ้งแล้วสร้างอุโมงค์
ส่วน "แยกเสนา-เกษตรศาสตร์" จะลดความยาวของสะพาน จะเวนคืนจุดที่ตั้งสถานีสร้างทางขึ้น-ลง ตลอดเส้นทาง จากจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่หมอชิต วิ่งตามแนวถนนพหลโยธิน
ข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยก ม.เกษตรศาสตร์ ถึงพหลโยธินซอย 66 แล้วเบี่ยงซ้ายถึงอนุสาวรีย์หลักสี่ สิ้นสุดที่สะพานใหม่ เลี้ยวขวาสุดเขตกองทัพอากาศ เข้าถนนลำลูกกาถึงคูคตบริเวณคลอง 2 ปลายทางจะเวนคืนใหญ่เพื่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (ดีโป) หลายร้อยไร่
สีชมพูเวนคืนแยกแคราย-มีนบุรี
สาย สีชมพู "แคราย-มีนบุรี" 34.5 กิโลเมตร หลัง รฟม.ทบทวนแบบและขยับที่ตั้งสถานี และเพิ่มใหม่อีก 6 สถานี จะเวนคืนจุดที่ตั้งสถานี 30 แห่ง ตั้งแต่ต้นทางเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) หน้าศูนย์ราชการนนทบุรี เลี้ยวซ้ายแยกแครายเข้าติวานนท์
เลี้ยวขวา แยกปากเกร็ด เข้าแจ้งวัฒนะ แยกหลักสี่ วงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ เข้ารามอินทรา ถึงแยกมีนบุรีตรงไปตามถนนสีหบุรานุกิจ สิ้นสุดที่ทางแยกร่มเกล้า จะเวนคืนพื้นที่ 147 ไร่ รื้อสิ่งปลูกสร้าง 259 หลัง ค่าชดเชย 4,458 ล้านบาท
สายสีส้มรื้อแนวใหม่
ขณะ ที่สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) รื้อแนวใหม่เข้าถนนพระรามที่ 9 พร้อมปรับลดระยะทางช่วงแรกลง 4 กม.บริเวณ "ตลิ่งชัน" ร่นมาอยู่ที่ "บางขุนนนท์" ทำให้ระยะทางหดเหลือ 34.5 กม. ปรับแนวตัดเข้าพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงของ รฟม. แล้ววกเข้าถนนพระรามที่ 9 หน้าสำนักงาน รฟม. ตรงเข้าถนนรามคำแหง ทั้งเพิ่มสถานีที่ "สุวินทวงศ์" อีก 1 สถานี จากเดิมสิ้นสุดที่ "มีนบุรี"
แนวหลังปรับใหม่ เริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ วิ่งไปตามแนวรถไฟสายบางกอกน้อย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนิน เบี่ยงเข้าถนนหลานหลวง ยมราช เข้าถนนเพชรบุรี เลี้ยวเข้าถนนราชปรารภถึงดินแดง
เลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) เลี้ยวขวาเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีศูนย์
วัฒนธรรมฯ แล้วเบี่ยงเข้าถนนพระรามที่ 9 ผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ถนนกาญจนาภิเษก สิ้นสุดที่จุดตัดกับถนนสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี
รูปแบบก่อสร้างเป็น โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 26.2 กม. จาก "สถานีบางขุนนนท์-สถานีคลองบ้านม้า" โครงสร้างจะยกระดับถึงปลายทางที่ "สถานีสุวินทวงศ์" 9.2 กม. จุดเวนคืนหลักในแนวเส้นทาง เป็นจุดที่ตั้งสถานีและจุดใหญ่อยู่ช่วงถนนประชาสงเคราะห์
ร.ฟ.ท.เร่งเคลียร์ผู้บุกรุกทั่ว ปท.
"การ รถไฟแห่งประเทศไทย" (ร.ฟ.ท.) เร่งเคลียร์ผู้บุกรุกแนวเขตทางรถไฟทั่วประเทศ 23,379 รายเปิดเส้นทางสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟความเร็วสูงปีนี้ รวมทั้งแผนเจาะอุโมงค์ช่วง "อุตรดิตถ์-เด่นชัย" ในแนวรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 745 กิโลเมตร, เวนคืนช่วงมาบกะเบาในแนวรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน กรุงเทพฯ-หนองคาย ปรับแนวเส้นทางช่วง จ.พระนครศรีอยุธยาและลพบุรีที่จีนศึกษาให้ก่อนหน้านี้
มอเตอร์เวย์เปิดพื้นที่ใหม่
ของ "กรมทางหลวง-ทล." เร่งออก พ.ร.ฎ.เวนคืนมอเตอร์เวย์ใหม่ 2 สาย คือ "สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา" 196 กม. แนวเวนคืนที่ดินอยู่ระหว่าง 400-2,500 เมตร เริ่มที่จุดเชื่อมต่อบางปะอินกับวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ข้างแนวรั้วมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ผ่านโฮมโปร ผ่านหินกอง เบนไปทางทิศตะวันออกตัดทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ซ้อนทับและใช้เขตทางร่วมกับทางเลี่ยงเมืองสระบุรีด้านตะวันออก
ด้าน ใต้ขนานกับแนวทางหลวงหมายเลข 2 ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 3222 (แก่งคอย-บ้านนา) ผ่านบ้านโคกกรุง ด้านเหนือของวิทยาลัยเกษตรสงเคราะห์สระบุรี เข้าเขตพื้นที่นิคมสร้างตนเองทับกวาง แล้วเข้าเขตพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จากนั้นตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 2222 ทางเข้าวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ตรงไปยัง จ.นครราชสีมาบริเวณบ้านหนองน้ำแดง ผ่านพื้นที่ทหาร ซ้อนทับกับถนนมิตรภาพช่วงเลียบเขื่อนลำตะคอง ตัดข้ามถนนมิตรภาพ บริเวณบ้านคลองไผ่มาสิ้นสุดที่วงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา
ตัดผ่าน 3 จังหวัด 12 อำเภอ คือ 1) จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ อ.บางปะอิน วังน้อย อุทัย 2) จ.สระบุรี ที่ อ.หนองแค เมืองสระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก 3) จ.นครราชสีมา ที่ อ.ปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา เวนคืนที่ดิน 2,187 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 370 ราย ต้นไม้ยืนต้น 98 ราย ค่าชดเชยกว่า 5,302 ล้านบาท พื้นที่เวนคืนมีทั้งที่ดินเอกชนและส่วนราชการ ที่ราชพัสดุ ทหาร ที่ดิน ส.ป.ก. ส่วนของชาวบ้านจะมีทั้งที่ดินมรดกและ น.ส.3 และกลุ่มนายทุนจากกรุงเทพฯย่านปากช่อง
สาย "บางใหญ่-กาญจนบุรี" 98 กม. จะพาดผ่านพื้นที่ 27 ตำบล 7 อำเภอ ใน 4 จังหวัดคือ นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี มีผู้ถูกเวนคืน 3,727 ราย เนื้อที่ 6,808.5 ไร่
แนว เส้นทางเริ่มต้นบริเวณต่างระดับบางใหญ่ เชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอก ตัดผ่านที่ดิน อ.พุทธมณฑล นครชัยศรี เมืองนครปฐม บ้านโป่ง ท่ามะกา และไปบรรจบทางหลวงหมายเลข 324 (ถนนกาญจนบุรี-อู่ทอง) บริเวณ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
กทพ.เวนคืนผุดด่วนสายเหนือ
ขณะที่การทาง พิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วางแผนปี 2556 จะออก พ.ร.ฎ.เวนคืนสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1, N2, N3) กว่า 40 กม. เงินเวนคืนกว่า 4 หมื่นล้านบาท แนวเส้นทางเริ่มต้นจากแยกบางใหญ่เชื่อมถนนวงแหวนตะวันตก วิ่งบนถนนรัตนาธิเบศร์ ผ่านแยกเกษตร ซ้อนทับไปกับถนนเกษตร-นวมินทร์ ผ่านถนนเสรีไทย รามคำแหง สิ้นสุดที่ศรีนครินทร์ เชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดีในแนวถนนมอเตอร์เวย์สายใหม่ กรุงเทพฯ-ชลบุรี
จุดหลัก ๆ เวนคืนบริเวณสร้างแยกต่างระดับ มีแยกบางใหญ่ ราชพฤกษ์ เลี่ยงเมืองนนทบุรี ทางด่วนขั้นที่ 2 บริเวณงามวงศ์วาน ทางเชื่อมโทลล์เวย์ที่ ถ.วิภาวดี แยกเกษตรศาสตร์ ลาดปลาเค้า ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ แยกนวลจันทร์ แยกเสรีไทย รามคำแหง และศรีกรีฑา ช่วงแรกจากบางใหญ่-เกษตรศาสตร์ เวนคืน 778 หลัง ที่ดิน 1,771 แปลง เนื้อที่ 525 ไร่เศษ
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เวนคืนที่ดินตัดถนนใหม่ตามผังเมืองรวมเพื่อแก้ปัญหาจราจรในปริมณฑลและ ภูมิภาค 15 สายทาง โดยในปี 2556 มีงบฯเวนคืนที่ดิน 3,390 ล้านบาท
กทม.เวนคืนถนนกว่า 100 สาย
สำหรับ พื้นที่ กทม. มีโครงการรอเวนคืนที่ดินกว่า 100 สายทาง กระจายทั้ง 50 เขต เชื่อมการเดินทางของเมืองและรอบนอก เช่น ถนนวงแหวนรอบนอก-พุทธมณฑลสาย 2, สายรัตนโกสินทร์สมโภช-นิมิตรใหม่, ขยายถนนอ่อนนุชบริเวณสะพานหนองปรือ, ถนนต่อเชื่อมพหลโยธิน 62-วิภาวดี (ด้านข้างเจ้เล้ง) ถนนพุทธมณฑลสาย 1, โครงการแก้จราจรโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช, สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง, โครงการต่อเชื่อมถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ กับถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรีและถนนกรุงเทพกรีฑา เป็นต้น ทุกสายทางถูกบรรจุในแผนผังเมืองรวมฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้เดือนพฤษภาคม 2556 นี้