กูรู เศรษฐกิจโลก ยก เวียดนาม เนื้อหอมสุดในอาเซียน GDP โตต่อเนื่อง 7%
ภายในงานสัมนาติวเข้มเจาะตลาดเวียดนาม ลาว เมียนมา ซึ่งจัดโดย สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (New Economy Academy) หรือ NEA กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุ ปี 2562 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของเวียดนามขยายตัวที่ 7.02% โตสวนเศรษฐกิจโลก อีกทั้งหลายประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และ จีน แต่เวียดนามกลับได้รับอานิสงส์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลให้หลายกลุ่มอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตมาเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตเพราะค่าแรงต่ำ ประกอบกับมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมากและขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2050 จะมีประชากรสูงถึง 120 ล้านคน อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการค้าเสรีกับต่างประเทศ ทั้งข้อกฎหมายที่ยืดหยุ่นช่วยเอื้อประโยชน์การค้าและการลงทุนมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้เวียดนามเป็นตลาดที่ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุน
ดร.สุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กล่าวภายหลังงานสัมนาติวเข้มเจาะตลาดเวียดนาม ลาว เมียนมา ว่า ตลาดเวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีประชากรขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ตลาดการบริโภคภายในประเทศมีขนาดใหญ่ อีกทั้งเวียดนามได้สิทธิพิเศษทางภาษี หรือ GSP และมีสนธิสัญญาไมตรีกับสหรัฐ มีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ และยังมีข้อตกลง FTA กับญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปีที่ผ่านมา สูงกว่า 517,000 ล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 1.6 ล้านล้านบาท
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้ามาขยายตลาดในเวียดนาม แต่ผู้ประกอบการต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง อีกทั้งบนบรรจุภัณฑ์ควรมีภาษาเวียดนามควบคู่ไปด้วยเพราะเป็นภาษาหลัก สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดเวียดนาม ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือ สคต. ณ นครโฮจิมินห์ มีข้อมูลการค้า รวมถึงข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คอยสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกท่านเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดในอนาคต
ด้านนายอธิษฐ์พัชร นิพิษฐาภัทร กรรมการผู้จัดการบริษัท โอแฟงห์ จำกัด ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการไทยรุ่นใหม่ที่รุกตลาดเวียดนามได้เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ผ่านการขายในรูปแบบแฟรนไชส์ขนมครกวีแกน ภายใต้แบรนด์ท่าช้าง ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์และการตลาดจากการใช้สื่อออนไลน์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ และใช้การเล่าเรื่อง (Story Telling) ของสินค้าให้มีความน่าสนใจช่วยเพิ่มมูลค่าแบรนด์สินค้าให้มากขึ้น ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ขนมครกวีแกนในไทย 2 แห่ง ส่วนในต่างประเทศ เช่น ลาว 5 สาขา และเวียดนาม 1 สาขา และเตรียมขยายแฟรนไชส์ให้ครอบคลุม CLMV และ ปีนี้ยังตั้งเป้าโต 20-30%
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการไทยอีกหลายรายเตรียมจะขยายตลาดไปในประเทศเวียดนาม โดยนายนาคร ศิลาชัย กรรมการบริหาร บริษัท มาดากัสก้า จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม ภายใต้แบรนด์ จูจูเน่ ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดเวียดนามเพื่อขยายแบรนด์สินค้า เนื่องจากเวียดนามมีจำนวนคนในกลุ่มวัยทำงานค่อนข้างเยอะ ทำให้มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง จึงเชื่อว่าเวียดนามเป็นตลาดที่ศักยภาพ และสินค้าไทยเองก็มีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสินค้าความงามของจูจูเน่ มีจำหน่ายที่ลาวแล้ว 1 แห่ง อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ค้าที่กัมพูชาอีกแห่ง
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ เอดีบี ประเมินว่า เศรษฐกิจเวียดนามปี 2563 จะขยายตัวราว 6.5% สอดคล้องกับธนาคารเอชเอสบีซี ประเมินว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวที่ 7% สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน อย่างฟิลิปปินส์ และ เมียนมา เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมบริการและส่งออกหลังจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกหลายแห่ง อย่าง นินเทนโด แอปเปิ้ล และ กูเกิ้ล อยู่ระหว่างการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาเวียดนาม เพื่อหนีผลกระทบสงครามการค้าซึ่งทำให้สินค้าที่ผลิตในจีนมีต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงบริษัท ซัมซุง ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน จากเกาหลีใต้ ที่ย้ายฐานการผลิตมาแล้ว ด้านนักวิเคราะห์ต่างประเทศส่วนใหญ่ มองว่า เวียดนามจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในอาเซียนที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในระดับ 7% ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา