เสียงสะท้อนจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท มองจากมุมของ ′ลูกจ้าง′

เสียงสะท้อนจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท มองจากมุมของ ′ลูกจ้าง′

เสียงสะท้อนจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาท มองจากมุมของ ′ลูกจ้าง′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรือ "บอร์ดแรงงาน" เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 โดยมี 7 จังหวัดที่อัตราค่าจ้างปรับเป็นวันละ 300 บาท

ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต

ส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัด มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท บังคับใช้กันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

ในส่วนของผู้ประกอบการทั้งหลายตลอดระยะที่ผ่านมามีระคนกันไปทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมทั้งในส่วนที่ไม่มีผลกระทบเพราะมีการจ้างแรงงานด้วยค่าจ้างและสวัสดิการที่มากกว่า 300 บาท อยู่แล้ว

แต่เมื่อเสียงนกหวีดส่งสัญญาณขึ้นค่าจ้างดังขึ้นแล้ว

"นายจ้าง" ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น

ในมุมของ "ลูกจ้าง" ที่ได้ "ค่าเหนื่อย" เพิ่มขึ้น ก็มีเสียงสะท้อนตามมาให้เห็นเช่นกัน

จะดีขึ้นหรือสุขเท่าเดิม ลองมาฟังกันดู

สุทธิชัย เลียนอย่าง ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ วัย 23 ลูกจ้างที่ทำงานขยันตัวเป็นเกลียวในร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ภายในซอยสืบสิริ 3 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยได้ค่าแรงวันละ 260 บาท

ถือว่าพออยู่ได้ เพราะยังไม่ตั้งครอบครัว อาศัยอยู่กับพ่อแม่ จะเสียเงินก็แค่อาหารมื้อกลางวันตกวันละ 40 บาท เท่านั้น จึงมีเงินเหลือสำหรับซื้อของใช้จ่ายอย่างอื่น แต่ไม่ถึงกับมีเงินเก็บ เพราะยังต้องเจียดเงินให้พ่อแม่ใช้ด้วย

- พอรัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรง นายจ้างของผมก็ปรับให้ทันที ผมดีใจมาก อย่างน้อยก็มีรายได้เพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มไม่มากแต่มีกำลังในการทำงาน ส่วนคนที่มีครอบครัวน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลงบ้าง

แต่สิ่งที่ผมเจอตามมาขณะนี้คือข้าวของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันต่างปรับราคาขึ้นตามไปด้วย อย่างอาหารตามสั่ง เคยขายจานละ 30 บาท พรวดพราดขึ้นมาที่ 35-40 บาทแล้ว ฝากให้รัฐบาลช่วยควบคุมราคาสินค้าเหล่านี้ด้วย" สุทธิชัยกล่าว

- นางทองใบ กล้ากลาง อายุ 56 ปี ชาว ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ลูกจ้างบริษัทรับเหมาจัดสวนหย่อมแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า รับจ้างเป็นคนจัดสวนได้เงินรายวัน เคยได้วันละ 250 บาท

แต่พอหลังวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา นายจ้างขึ้นค่าแรงให้ลูกจ้างทั้งหมด ตกวันละ 300 บาท พวกเราพอใจกันมาก อีกทั้งนายจ้างยังเลี้ยงอาหารวันละ 2 มื้อ ทั้งมื้อเช้าและเที่ยง

"แต่ธุรกิจรับเหมาจัดสวนหย่อมไม่ได้มีงานให้ทำทุกวัน เดือนหนึ่งจะมี 2-3 ครั้ง ครั้งละ 3-4 วันเท่านั้น จึงต้องใช้เงินอย่างประหยัด แต่เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เวลาไปซื้อของกินของใช้ ทุกอย่างก็แพงขึ้นตามไปด้วย" นางทองใบกล่าว

- ลองมาฟัง กรรณิการ์ จำรูญหิน ชาว อ.วังสะพุง จ.เลย ที่เดินหางานทำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กันบ้าง สาววัย 26 รายนี้เล่าให้ฟังว่า เคยเป็นพนักงานบรรจุแล้วในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจังหวัด (พระนครศรีอยุธยา) วันนี้ต้องเดินเตะฝุ่นหางานใหม่

"ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง เคยได้ค่าแรงตกวันละ 267 บาท รวมกับรายได้ทำงานล่วงเวลา หรือโอที 4 ชั่วโมง อีก 175 บาท เท่ากับได้ 440 บาท แต่พอขึ้นค่าแรง 300 บาท โรงงานเลิกให้ทำโอทีทันที จึงได้ค่าแรงตกวันละ 300 บาท เท่านั้น รวมทั้งการจ้างงานในวันหยุดที่เคยได้ 2 แรง ก็ไม่มีเช่นกัน ทำให้ใช้จ่ายไม่พอ จึงต้องออกหางานใหม่ที่ต้องมีโอทีด้วย เพื่อจะมีรายได้เลี้ยงตัวได้เหมือนก่อนหน้านี้" กรรณิการ์กล่าว

- ขณะที่ รพีพรรณ แซ่จัง ยังใช้นางสาวนำหน้า อายุ 23 ปี เป็นคน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ทำงานหาเลี้ยงชีพที่บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เป็นลูกจ้างฝ่ายผลิต

กินค่าจ้างรายวัน ยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย "ก่อนหน้านี้เคยได้ค่าจ้างวันละ 215 บาท และยังมีค่าโอที ค่าเข้าเวร ค่าอาหาร และอื่นๆ แต่พอปรับเป็นวันละ 300 บาท รายได้ประกอบอื่นๆ ก็ลดลงตาม

บางรายการถูกผนวกเข้ารวมกับเงิน 300 บาท ค่าโอทีก็ลดลง รวมแล้วเงินที่ได้ไม่ต่างกันมากนัก" รพีพรรณกล่าว

- น.ส.ปภาวรินทร์ เผือกนาค อายุ 30 ปี พักอยู่ย่าน ต.บึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทำงานลูกจ้างรายวันที่โรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่เดียวกันกับที่อยู่อาศัย เดิมได้ค่าจ้างวันละ 200 กว่าบาท หลังมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

รายได้ก็เพิ่มมากขึ้น สวัสดิการต่างๆ ยังเหมือนเดิม ไม่มีการหักหรือลดแต่อย่างใด แต่ค่าครองชีพต่างๆ ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคกลับขึ้นแข่งกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

"เฉลี่ยเงินที่ได้มากับเงินที่ต้องใช้จ่ายก็มีค่าเท่ากัน หากถามว่า 300 บาท พอใช้หรือไม่ หากใช้ให้รู้จักประหยัดก็สามารถอยู่ได้" ปภาวรินทร์กล่าวทิ้งท้าย

เป็นเสียงสะท้อนจากอีกมุมของการขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะนายจ้างที่ "ซิกแซ็ก" เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายมากขึ้น กลุ่มทุนที่ฉวยโอกาสกับสถานการณ์ ทำให้ "ราคาสินค้า" ขึ้นไล่ตามมาติดๆ

ขณะที่ความเป็นอยู่ของ "ลูกจ้าง" ยังยากลำบาก ยังเป็นผู้ถูกกระทำ และรอการเหลียวแลเอาใจใส่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook