โควิด-19 ดันอาชีพ Delivery รายได้พุ่งปรี๊ด เหตุช้อปออนไลน์โต 80% สวนกระแสเศรษฐกิจ
ภายหลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฝากถึงประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้พำนักอยู่ในบ้าน ขอให้งดการเดินทางไปต่างจังหวัดหรือเลื่อนการเดินทางในช่วงเวลานี้ออกไปก่อน ส่วนการไปทานอาหารนอกบ้าน พบปะสังสรรค์ ควรงดเช่นกัน และ ขอให้ซื้อกลับบ้านหรือให้ส่งไปที่บ้านแทน จะเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งในครัวเรือน
นอสตร้า โลจิสติกส์ เผยสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 'โควิด-19' ดันยอดสั่งสินค้าออนไลน์ในประเทศโตสวนกระแสถึง 80% ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคหลีกเลี่ยงแหล่ง ช้อปปิ้งแออัด หันไปเลือกสั่งสินค้าออนไลน์ พร้อมแนะธุรกิจขนส่งเตรียมพร้อมรับมือใช้เทคโนโลยีจัดการและติดตามการขนส่งแบบเรียลไทม์ พร้อมการกำหนดพิกัดอาณาเขตพื้นที่เสี่ยงบนแผนที่ (Geofence) รับมือการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น เพื่อบริหารการจัดส่งสินค้า เพิ่มความมั่นใจแก่ผู้รับสินค้าทุกการจัดส่ง ในกรณีเกิดปัญหากับเส้นทางจัดส่งสามารถติดตามข้อมูลเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับอาชีพ Delivery เพราะการสั่งซื้อออนไลน์ที่โตแบบก้าวกระโดดเพียงชั่วข้ามคืน ส่งผลให้อาชีพขับรถส่งของ-ส่งอาหาร Delivery เป็นที่ต้องการ และ ก็เป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับหลายๆคนที่กำลังมองหางานในช่วงที่เกิดการ Shut down บางส่วน แต่ธุรกิจเหล่านั้นยังต้องเดินต่อโดยอาศัยแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาช่วยนั้นเอง Sanook Money ได้รวบรวมรายได้ของแบรนด์ขนส่งเจ้าดังๆ มาฝากกัน เผื่อเป็นโอกาสดีสำหรับบางคนที่กำลังมองหาอาชีพเสริมอยู่
Grabfood
บริษัทสิงคโปร์ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารกับพาร์ตเนอร์ของคนกรุงฯ เปิดให้บริการในไทยเมื่อกลางปี 61 โดยผู้ขับ Grabfood จะมีรายได้จากค่าส่งดังนี้
- ค่าบริการส่งอาหาร 50 บาทต่อครั้ง (หักค่าคอมมิชชั่น 15% ได้รับจริง 42.50 บาท)
- ค่าส่งที่เก็บเงินสดจากลูกค้า 10 บาทต่อครั้ง (หักค่าคอมมิชชั่น 15% ได้รับจริง 8.50 บาท)
- ค่าส่งเพิ่มเติมตามระยะทาง 10 บาทต่อกิโลเมตร (มากกว่า 6 กิโลเมตร) (หักค่าคอมมิชชั่น 15%)
*หมายเหตุ : ค่าบริการต่างๆ ยังต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แต่สามารถยื่นขอคืนภาษี ณ ที่จ่ายได้ ในการยื่นภาษีประจำปี
นอกจากรายได้แล้ว พนักงานยังได้เข้าร่วม Grab Driver Benefits มีสิทธิประโยชน์จากร้านค้ามากมายที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Grab อย่างการซื้อของแบบผ่อน ส่วนลดสินค้า ประกันรถจักรยานยนต์ และอื่นๆ ด้วย
- ที่สำคัญจุดแข็งของ Grabfood คือ มองเห็นยอดรายได้รวมตั้งแต่ก่อนกดรับงาน, เลือกวันเวลาทำงานได้อง, แอปพลิเคชั่นเปิดให้บริการในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัดในหัวเมืองต่างๆ แถมสมัครฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
- ส่วนจุดอ่อน คือ เงินค่าบริการส่งอาหารจะได้รับในวันถัดไป และได้รับเงินค่าส่งเพิ่มเติมตามระยะทางทุกวันพุธ, ต้องกดแย่งลูกค้าเองผ่านแอปฯ และวิ่งรับงานได้แค่ 10.00-22.00 น.
Lineman
แพลตฟอร์มบริการรูปแบบ O2O (Online to Offline) แม้ว่าคู่แข่งจะเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ของเขาก็ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยค่าตอบแทนของการบริการส่งอาหารแบ่งได้ดังนี้
- ค่าบริการส่งอาหารเริ่มต้น 55 บาทต่อครั้ง (หักค่าคอมมิชชั่น 15% ได้รับจริง 46.75 บาท)
- ค่าส่งเพิ่มเติม 9 บาทต่อกิโลเมตร หากระยะทาง 1 กิโลเมตรขึ้นไป (หักค่าคอมมิชชั่น 15% ได้รับจริง 7.65 บาท)
- บริการช่วงนอกเวลาทำการ ตั้งแต่ 21.00-22.59 น. ได้เพิ่ม 50 บาท (หักค่าคอมมิชชั่น 15% ได้รับจริง 42.5 บาท)
- บริการช่วงนอกเวลาทำการ ตั้งแต่ 23.00-06.00 น. ได้เพิ่ม 100 บาท (หักค่าคอมมิชชั่น 15% ได้รับจริง 85 บาท)
*หมายเหตุ : ค่าบริการต่าง ๆ ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แต่สามารถยื่นขอคืนภาษี ณ ที่จ่ายได้ ในการยื่นภาษีประจำปี
- สำหรับจุดแข็ง คือ สามารถเลือกกดรับงานได้เอง, รับงานได้ถึง 2 แอปฯ คือ LINE MAN และ LALAMOVE, วิ่งรับงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง, แอปฯ เปิดบริการทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยา แถมรับเงินทันทีหลังจบงาน
- ส่วนจุดอ่อน คือ ต้องกดแย่งลูกค้าเองผ่านแอปฯ และมีค่าสมัครแรกเข้า 400 บาท
FoodPanda
บริการขนส่งอาหาร ตอบโจทย์คนเมืองที่เน้นสะดวก รวดเร็ว โดยผู้ขับรถส่งอาหารจะมีรายได้ดังนี้
- รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 100 บาทต่อชั่วโมง (หักภาษี ณ ที่จ่าย 3%) และมีโอกาสสร้างรายได้สูงถึง 36,000 บาทต่อเดือน
- จุดแข็ง คือ มีระบบจ้างงานแบบประจำ โดยมีสวัสดิการพนักงานให้, ไม่ต้องกดแย่งงาน เพราะมีระบบจ่ายงาน, แบ่งโซนชัดเจน ไม่ต้องขับขี่ระยะไกล, วิ่งรับงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง, ครอบคลุมพื้นให้บริการในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในหัวเมืองต่างๆ แถมสมัครฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
- จุดอ่อน คือ เลือกรับงานเองไม่ได้, ไม่ได้รับเงินทันที โดยจะจ่ายเงินตามรอบบัญชีของบริษัท และรับเฉพาะพนักงานประจำไม่เหมาะทำเป็นพาร๋ตไทม์
Get food
GET ก่อตั้งโดยคนไทย และได้เงินลงทุนจาก Go-Jek Tech Startup จากอินโดนีเซีย ตั้งขึ้นโดย “Nadiem Makarim” ที่ปัจจุบันกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับ Unicorn (มูลค่าการระดมทุนมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเริ่มมาจาก Get บริการขนส่ง และขยายเพิ่มเป็น Getfood ที่มีไว้สำหรับบริการส่งอาหาร โดยมีค่าตอบแทนจากการขนส่งดังนี้
- ขึ้นอยู่กับระยะทาง ช่วงเวลา สภาพจราจร และความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลานั้น ๆ โดยเฉลี่ยผู้ขับขี่จะมีรายได้เดือนละ 15,000-25,000 บาท
โดยประเภทอาหารที่ขายดีใน Get Food ได้แก่สตรีทฟู้ด 50%เครื่องดื่ม 40% อาหารรับประทานเล่น 10%
- จุดแข็ง คือ สมัครฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายและค่าแรกเข้า, วิ่งรับงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง, มีประกันสุขภาพและประกันภัยรถจักรยานยนต์, มีแผนเงินสะสมประจำปีและเงินช่วยเหลือยามฉุกเฉิน และรับเงินหลังจบงาน
- จุดอ่อน คือ ยังไม่เปิดบริการในพื้นที่ต่างจังหวัด, ร้านอาหารที่เข้าร่วมกับแอปฯ อาจยังไม่มากเท่ากับแอปฯ อื่นๆ ที่เปิดบริการมาก่อนหน้านี้
เป็นอย่างไรกันบ้าง เห็นค่าแรงคนขับรถ Delivery แล้วชักสนใจอาชีพเสริมขึ้นมาบ้างแล้วใช่มั้ยล่ะ?
ไม่เลือกงาน...ไม่ยากจนนะจ๊ะ!