คลัง-ธปท.- ก.ล.ต. ออก 3 มาตรการ สกัดคนแห่ไถ่ถอนกองทุน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) สร้างความกังวลให้ตลาดเงิน-ตลาดทุนไปทั่วโลก ราคาสินทรัพย์มีความผันผวนสูง แต่สถาบันการเงินไทยยังมีเสภียรภาพดี ธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนที่มั่งคง และมีสภาพคล่องในระดับที่สูง ไม่เหมือนเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งเช่นปี 2540
แม้ระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพดี แต่สถานการณ์สภาพคล่องตึงตัวในระบบการเงินโลก และกลไกตลาดการเงินที่ทำงานต่างจากสภาวะปกติ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนบางส่วนเกิดความกังวลเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ส่งผลให้กองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่ง ต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติ เพราะการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่น ๆ ตามมา จนกระทบต่อการทำงานของกองทุนรวมตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคเอกชน เศรษฐกิจ และประชาชนเป็นวงกว้าง
ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นควรออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย ป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายผลต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่
- ธปท. จะจัดตั้งกลไกพิเศษผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพดี และสามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นหลักประกัน (Repurchase Agreement) เพื่อขอสภาพคล่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท
- ธปท. จะช่วยเหลือตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ครบกำหนด และต้องการต่ออายุ (Rollover) โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน บริษัทประกันชีวิตต่างๆ กบข. เป็นผู้จัดตั้งกกองทุน โดยจะเข้าซื้อตราสารหนี้เหล่านี้มีมูลค่า 70,000-100,000 ล้านบาท
- ธปท. พร้อมที่จะดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
มาตรการเหล่านี้จะเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงินและช่วยให้กลไกตลาดตราสารหนี้กลับมาทำงานได้อย่างปกติท่ามกลางภาวะตลาดการเงินโลกที่ผันผวน และจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตราสารหนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมกันติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะร่วมมือในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม