"มาม่า"ลั่นตรึงราคายาว 1 ปี เห็นใจปชช.ขับรถคันแรก รายจ่ายงอกทำกระเป๋าแฟบ
"มาม่า"ประกาศตรึงราคา 1 ปี ช่วยผู้บริโภคลดภาระ รถคันแรกเป็นเหตุกระเป๋าฟีบ เลือกใช้วิธีควบคุมต้นทุน สั่งซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า พร้อมสร้างโรงงานผลิตแป้งสาลีเอง สยายปีกต่างประเทศเพิ่ม ลงทุนเปิดโรงงานที่กานา ภูฏาน หวังเพิ่มรายได้
นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา มาม่า เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 1 ปีเต็มบริษัทให้คำมั่นกับผู้บริโภคว่าจะไม่มีการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า
เพื่อลดภาระของผู้บริโภคที่มีค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มสูงขึ้นจากภาระหลายด้าน รวมถึงภาระผ่อนค่างวดตามโครงการรถคันแรกของรัฐบาล แม้ว่าต้นทุนหลักในการผลิตสินค้าคือน้ำมันปาล์ม และแป้งสาลีมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันราคาแป้งสาลีอยู่ที่ 350 บาทต่อ 1 กระสอบขนาดบรรจุ 22 กิโลกรัม (กก.) จากที่เคยซื้อ 330 บาทต่อ 1 กระสอบ และน้ำมันปาล์มขยับเป็น 33 บาทต่อกก. จากที่เคยซื้อ 30 บาทต่อ กก. "รวมถึงเป็นการคืนกำไรให้ผู้บริโภค จากผลประกอบการปี 2555 มียอดขายทะลุ 1 หมื่นล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี และมีกำไรโดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวม 1,253 ล้านบาท" นายพิพัฒกล่าว
นายพิพัฒกล่าวว่า การประกาศตรึงราคาเป็นนโยบายของบริษัทในฐานะเอกชนต้องคิดไปก่อนรัฐบาล ไม่ได้เป็นการรับการร้องขอจากภาครัฐ หรือกรมการค้าภายใน (คน.) แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับนโยบายรถคันแรกเพราะทำให้เกิดปัญหารถติดและก่อให้เกิดปัญหาวินัยทางการเงิน สิ่งที่จะตามมาคือการผิดนัดชำระหนี้
นายพิพัฒกล่าวว่า สำหรับปัญหาต้นทุนแพงขึ้นจากวัตถุดิบคือ แป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม บริษัทยังมั่นใจว่าจะรักษาราคาโดยไม่ปรับเพิ่มได้ด้วยการบริหารความเสี่ยงซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า จากเดิมที่อยู่ในกรอบ 3 เดือนเป็น 6 เดือน นอกจากนี้ ยังมีการบริหารจัดการลดต้นทุน ด้วยการร่วมลงทุนกับบริษัทเคอรี่ฟลาวมิลล์ และบริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ ตั้งบริษัทเพรซิเดนท์ฟลาวมิลล์ ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจผลิตแป้งสาลีจำหน่ายให้บริษัท มีกำลังการผลิต 6 หมื่นตันต่อปี โดยโรงงานตั้งอยู่ ที่ จ.ระยอง คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้
นายพิพัฒกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศเพิ่มเติม ล่าสุดได้ลงนามเอ็มโอยู (บันทึกความเข้าใจ) เพื่อทำธุรกิจโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศกานา เป็นการขยายฐานลูกค้าในตลาดแอฟริกา และประเทศภูฏานขยายธุรกิจไปยังอินเดีย ใช้เงินรวม 500 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานในสองประเทศ เพื่อขยายสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันมีรวม 20% ประเทศหลักที่ลงทุนแล้ว อาทิ บังกลาเทศ เขมร พม่า