ตั้งคณะทำงานยื่นหนังสือทวงรัฐบาลออกพ.ร.บ.นายหน้า
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยเดินเครื่องเร่งผลักดัน พ.ร.บ.นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ตั้งคณะทำงานเตรียมยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลัง ชี้หากไม่มีกฎหมายนายหน้าอสังหาฯ และไม่มีไลเซนส์ควบคุมการทำงานจะเสียเปรียบหลังเปิด AEC ย้ำเป็นการช่วยภาครัฐต้านปัญหาการฟอกเงินผ่านการซื้ออสังหาฯ นายแพทย์สมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ มีนโยบายที่ชัดเจนในการผลักดัน พ.ร.บ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อไม่นานมานี้ที่ประชุมของสมาคมฯ มีมติเห็นชอบในการเร่งผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการพิจารณาให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์เข้ามาควบคุมการทำงานนายหน้าทั้งระบบ เนื่องจากถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจดังกล่าวจะต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุม เพราะที่ผ่านมาจำนวนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าทั้งระบบน่าจะมีหลายแสนคนในจำนวนนี้มีทั้งผู้ที่ตั้งใจทำงานและผู้ที่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ที่สำคัญเมื่อปี 2554 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับใหม่ที่บังคับให้ธุรกิจ 9 ประเภทที่อาจมีส่วนทำให้เกิดปัญหาการฟอกเงิน และต้องถูกตรวจสอบจากภาครัฐอย่างเข้มงวด และธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ก็เป็น 1 ใน 9 ประเภทที่ต้องเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการซื้อ-ขายบ้านมือสองที่ต้องใช้เงินสดตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้น ซึ่งกฎหมายได้บังคับให้นายหน้าต้องทำหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อสำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน หากมีการวางมัดจำหรือซื้อด้วยเงินสดตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งทางสมาคมก็ได้แจ้งให้กับสมาชิกสมาคมฯไปแล้ว เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยรัฐบาลสะกัดกั้นการฟอกเงินจากการค้ายาเสพติด แต่นายหน้าที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมมีจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่เข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และหากประเทศไทยมี พ.ร.บ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ก็น่าจะช่วยให้การป้องกันปัญหาการฟอกเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หากประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมการทำงานของนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เชื่อว่าในอนาคตจะส่งผลกระทบต่าง ๆ ตามมามากมาย หลังจากปี 2558 เป็นต้นไปการทำธุรกิจบ้านมือสองในประเทศจะมีชาวต่างชาติเข้ามาแข่งขันกับคนไทยมากขึ้น และจะทำให้ธุรกิจของคนไทยเสียเปรียบเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือสองในต่างประเทศได้ เนื่องจากไม่มีไลเซนส์และไม่มีกฎหมายรองรับ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่นมาเลเซียและสิงคโปร์มีกฎหมายควบคุมการทำงานของนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งมีการออกใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยเปิดเผยถึง แนวทางในการผลักดันให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของ พ.ร.บ.นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ว่า ทางสมาคมฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้โดยเฉพาะ และคาดว่าในเร็ว ๆ นี้จะดำเนินการยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อภาพลักษณ์ของประเทศหลังจากก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งยังเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบ้านมือสอง ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี