หนี้เน่า 2 แบงก์รัฐ 7 หมื่นล. รื้อใหญ่ไอแบงก์ไล่สอบทุจริต
เปิดไส้ใน "ไอแบงก์" เข้าข่ายล้มละลาย เอ็นพีแอลพุ่งกว่า 32% มูลค่าหนี้เน่ากว่า 3.9 หมื่น ล. ส่งผลกระทบกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงติดลบ 5.18% ขอคลังเพิ่มทุนด่วน 1.37 หมื่นล้าน
พร้อมเสนอแผนฟื้นฟูเคลียร์หนี้เน่าภายใน 5 ปี รื้อใหญ่องค์กร-เบรกปล่อยสินเชื่อ เปิดปมทุจริตปล่อยสินเชื่อไร้คุณภาพ ธปท.เดินหน้าตั้งคณะกรรมการสอบทุจริตอีก 21 คดี โยงอดีตผู้บริหารด้าน "ยิ่งลักษณ์-โต้ง" แจงกรณีเอสเอ็มอีแบงก์เป็นข้อเสนอธนาคารโลก ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้เสียที่สูงกว่า 3 หมื่นล้าน
ไอแบงก์เอ็นพีแอลพุ่งปรี๊ด32%
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ถึงสถานะทางการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ว่า ณ 15 ม.ค. 2556 พบว่าธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนมากถึง 39,000 ล้านบาท ด้วยสัดส่วน 32% ของสินเชื่อ นับว่าสูงที่สุดในประวัติการณ์ของไอแบงก์ โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีคุณภาพจนก่อให้เกิดหนี้เสีย
โดยเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่กว่า 50% อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้ปี 2556 ธนาคารต้องตั้งสำรองหนี้เสียถึง 22,653 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS ของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ติดลบ 5.18% ขณะที่เมื่อสิ้นปี 2555 ไอแบงก์อยู่ในภาวะขาดทุนสุทธิ 16,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีของไอแบงก์ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่บีไอเอสติดลบ จากเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้สถาบันการเงินต้องรักษาระดับ BIS อยู่ไม่ต่ำกว่า 8.5% และหากลดลงเหลือระดับ 3-5% ก็ต้องรายงานให้ ธปท. และกระทรวงการคลังรับทราบ และหากต่ำกว่า 3% ธปท.ก็จะส่งคณะทำงานเข้าไปนั่งในบอร์ดของสถาบันการเงินนั้น ๆ 1 คน เพื่อกำกับดูแลและตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้ BIS ลดลง
ขอคลังเพิ่มทุน 1.37 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากที่ BIS ติดลบ ส่งผลให้ธนาคารจำเป็นต้องขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังอย่างเร่งด่วนถึง 13,726 ล้านบาทภายในปีนี้ เพื่อรักษาเงินกองทุนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด 8.5%
"ปัจจุบันเงินกองทุนของธนาคารอยู่ที่ 6,227 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ มีอยู่ 120,269 ล้านบาท ทำให้ BIS ของธนาคารติดลบทันที ซึ่งถือว่าค่อนข้างหนักสำหรับไอแบงก์ ดังนั้นหากไม่เพิ่มทุนตอนนี้ก็จะกระทบต่อสถานะธนาคารค่อนข้างมาก เพราะธนาคารจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินเชื่อหรือแผนการต่าง ๆ ได้เลย เพราะสถานะเป็นติดลบ" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ขณะนี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลทุกด้านของไอแบงก์ เพื่อส่งต่อให้กับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุน พร้อมกับเสนอแผนฟื้นฟูธนาคาร โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่ให้หมดภายใน 5 ปี แผนการแก้หนี้เสียปีนี้ทำให้ธนาคารต้องเข้าไปเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการฟ้องร้องลูกหนี้ที่อยู่ในการบังคับคดีทั้งสิ้น18,000ล้านบาทอย่างเร็วที่สุด
"ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าแก้หนี้ NPL ให้ได้ที่ 12,000 ล้านบาท และจะทยอยลดเอ็นพีแอลเดิมให้หมดภายใน 5 ปี ขณะที่ในการปล่อยสินเชื่อใหม่ ธนาคารต้องทำให้เกิดหนี้เสียไม่เกิน 10% ต่อปี"
รื้อโครงสร้าง-เบรกปล่อยสินเชื่อ
อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานะของธนาคารที่มีบีไอเอสติดลบและอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทำให้ปีนี้ธนาคารต้องจำกัดการปล่อยสินเชื่อโดยมีนโยบายไม่ปล่อยกู้เพิ่มนอกจากลูกค้าเดิมที่มีคุณภาพ
พร้อมกันนี้ธนาคารมีแผนปรับปรุงระบบไอที กระบวนการทำงานให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด สุดท้ายคือการลดรายจ่าย
สำหรับแผนในปี 2557 ธนาคารจะเน้นการปล่อยสินเชื่อกลุ่มลูกค้ามุสลิมมากขึ้น โดยปัจจุบันไอแบงก์มีสัดส่วนลูกค้ามุสลิมประมาณ 10% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด นอกจากนี้ธนาคารยังตั้งเป้าเชื่อมความสัมพันธ์ลักษณะการเป็นพันธมิตรร่วมกับธนาคารในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามแผนฟื้นฟูปีนี้ไอแบงก์ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อขยายตัวที่ 0% จาก ณ สิ้น 31 ธ.ค. 55 ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อทั้งสิ้น 120,269 ล้านบาท และหลังจากปี"57 เป็นต้นไป จะเห็น
สินเชื่อขยายตัวปีละ 20% โดยปี"57 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อโตราว 20,000 ล้านบาท หรือ 145,180 ล้านบาท และปี"58 ที่ 174,216 ล้านบาท ปี"59 ที่ 212,544 ล้านบาท และสุดท้ายปี"60 ที่ 259,303 ล้านบาท
เปิดปมพบทุจริตทุกรูปแบบ
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากผลการดำเนินงานของไอแบงก์ที่เข้าสู่วิกฤตในขณะนี้ สืบเนื่องมาจากมีกรณีเหตุการณ์ทุจริตภายในองค์กร โดยเฉพาะด้านการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีความรัดกุม
อีกทั้งเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อต่าง ๆ ยังมีการเปิดช่องให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์กรมีช่องทางทุจริตโดยปี"55 ที่ผ่านมา ธนาคารได้สืบพบเหตุทุจริตและความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
ทำให้ธนาคารมีการสั่งดำเนินคดีกับพนักงานไอแบงก์รวมกันอย่างน้อย 4-6 คน โดยคดีแรกคือ กรณีการทุจริตการปล่อยสินเชื่อ โดยเป็นการขอเปอร์เซ็นต์จากการปล่อยสินเชื่อ 3-7% นับจากมูลค่าการขอสินเชื่อ ส่งผลให้ผู้อำนวยการรายหนึ่งถูกดำเนินคดีและไล่ออกเมื่อไตรมาส 3/55 ที่ผ่านมา
คดีที่สอง คือ การทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการเปิดสาขาใหม่ของไอแบงก์ทั่วประเทศกว่า 100 สาขา โดยมีการฮั้วเพื่อรับส่วนแบ่งผ่านการตั้งบริษัท 2 แห่ง เพื่อรับงานเปิดสาขาใหม่ของ
ไอแบงก์ โครงการดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าราว 500 ล้านบาท ด้วยงบประมาณแต่ละสาขาอยู่ที่ราว 5 ล้านบาท โดยคดีดังกล่าวพบผู้บริหารระดับผู้อำนวยการมีส่วนเกี่ยวข้อง จนถูกดำเนินคดีและไล่ออกเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีกรณีการทุจริตการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อย โดยการปลอมแปลงเอกสารทุกประเภททั้งข้อมูลสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านต่าง ๆ เพื่อขอสินเชื่อแต่ละรายในวงเงิน 500,000 บาท จำนวนหลายสัญญา และทำกันมาเป็นขบวนการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 3 รายรวมถึงการทุจริตที่ขอสินเชื่อโดยใช้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPA) มาเป็นหลักประกัน และหยุดการผ่อนชำระจนเป็นหนี้เสีย NPL
จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า หนี้ NPL ของธนาคารมีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการทุจริตภายในด้านการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้มีหนี้ที่กำลังจะเป็น NPL เพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท จากเดิม ณ สิ้น 15 ม.ค. 2556 ไอแบงก์มีหนี้ NPL ทั้งสิ้น 39,000 ล้านบาท และมีโอกาสที่ NPL จะพุ่งขึ้นไปถึง 60,000 ล้านบาท หรือใกล้เคียง 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด 1.2 แสนล้านบาท
สอบ 21 คดีโยงอดีตผู้บริหาร
โดยจากการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ล่าสุดพบเบาะแสการทุจริตเกี่ยวกับด้านการปล่อยสินเชื่อ และปล่อยสินเชื่อโดยขาดการพิจารณาให้รอบคอบ อีก 21 คดี ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ธปท. โดยครั้งนี้อาจจะมีความเกี่ยวโยงกับอดีตผู้บริหาร และพบข้อมูลว่าเป็นการปล่อยกู้ให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด
"ธปท.อยู่ระหว่างดำเนินงาน และตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา 1 ชุด โดยมีตัวแทนจาก ธปท., กระทรวงการคลัง, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาร่วมสอบสวน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 1 นี้ โดยการทุจริตและการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวมไร้กฎเกณฑ์ต้องถูกรื้อใหม่ โดย ธปท.เรียกกลับมาสอบสวนใหม่" แหล่งข่าวกล่าว
ปัญหาการทุจริตการปล่อยสินเชื่อภายในองค์กร และการประมูลงานโครงการธนาคารทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรและความเชื่อมั่นของพนักงานไอแบงก์ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 56 ได้มีสารจากกลุ่มพิทักษ์คุณธรรม และจรรยาบรรณธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ออกมาประณามการกระทำของผู้บริหาร และนำไปสู่ความเสียหายของธนาคาร จนทำให้สถานะธนาคารมี BIS ที่ติดลบ
ทั้งนี้ปัจจุบัน นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย และอดีตผู้จัดการทั่วไป บริษัท แคปปิตอล โอเค เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของไอแบงก์
ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีไอแบงก์ที่มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนค่อนข้างมาก และมี BIS ติดลบแห่งแรกของระบบธนาคารในประเทศไทยนั้น เชื่อว่าที่สุดแล้วจะไม่นำไปสู่การปิดตัวไอแบงก์ เนื่องจากธนาคารเฉพาะกิจทุกแห่งถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน
ดังนั้นหากสถานะของธนาคารเฉพาะกิจบางแห่งจะมีผลขาดทุนจากการดำเนินตามจุดประสงค์ของรัฐบาลก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่แปลกเพื่อถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับแหล่งเงินทุน
ขณะเดียวกันส่วนปัญหาการทุจริตจนนำไปสู่ความเสียหายของธนาคารเฉพาะกิจนั้นก็คงต้องสอบสวนและตรวจสอบผ่านระบบของกระทรวงการคลัง หากมีความผิดจริงก็ต้องมีการดำเนินการ เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของธนาคาร
"ปัญหาไอแบงก์ขนาดนี้ก็ต้องเร่งให้เขาส่งแผนฟื้นฟูมาอย่างเร่งด่วนที่สุดและหากจะทำให้ธนาคารฟื้นได้ก็ต้องเพิ่มทุนให้ซึ่งก็ต้องแล้วแต่รมว.คลังเห็นสมควร สำหรับแผนฟื้นฟูเบื้องต้นก็น่าจะเรียบร้อย ขณะที่เอสเอ็มอีแบงก์ ล่าสุดบอร์ดเพิ่งให้ธนาคารกลับไปแก้ไขแผนฟื้นฟูใหม่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติจริงได้ และฟื้นฟูธนาคารให้เร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องรอดูแผนว่าเป็นอย่างไรหลังแก้ไขแล้ว" นายสมชัยกล่าว
ธปท.หนุนเอสเอ็มอีรวมออมสิน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะภารกิจของ 2 ธนาคารคล้ายกัน และด้านความมั่นคงกับประสิทธิภาพเอสเอ็มอีแบงก์ก็มีปัญหาอยู่ จึงต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งการควบรวมก็เป็นทางหนึ่ง ถ้าธนาคารออมสินมีคณะผู้บริหารและสถานะที่มั่นคงกว่าก็รับไปได้ แม้ต้องรับหนี้สินของเอสเอ็มอีแบงก์ไปด้วย ก็เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สุดผู้รับไปคือรัฐ เพราะทั้งสองธนาคารมีรัฐถือหุ้น
สำหรับผลการตรวจสอบสถานะการเงินของธนาคารอิสลาม ในฐานะหน่วยงานฝ่ายตรวจสอบไม่สามารถแสดงความเห็นในกรณีนี้ได้
"เรื่องนี้ต้องหาทางแก้ไขทางใดทางหนึ่งแต่การแก้ปัญหาของสถาบันการเงินต้องคิดถึงอนาคตด้วยไม่ใช่แก้เพียงปัญหาปัจจุบัน"นายประสารกล่าว
ยิ่งลักษณ์ อ้างธนาคารโลก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากนายกิตติรัตน์ว่า การควบรวมระหว่างเอสเอ็มอีแบงก์ กับธนาคารออมสินเป็นข้อเสนอที่ธนาคารโลก เสนอมาที่กระทรวงการคลัง
ซึ่งรัฐบาลต้องขอรับไปศึกษาก่อน โดยเน้นย้ำให้เข้าไปดูเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของเอสเอ็มอีแบงก์เป็นอย่างแรก
"หลักการควบรวมนั้นคงต้องดูรายละเอียดว่าธนาคารออมสินเองมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ตอนนี้ยังให้คำตอบที่ชัดเจนทั้งหมดไม่ได้ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกลับไปศึกษาและโครงสร้างทั้งหมดเสียก่อน"นายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้านนายกิตติรัตน์กล่าวว่า การควบรวมทั้งสองธนาคาร ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่กระทรวงการคลัง และ สศค. อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งเข้าใจว่าอีกไม่กี่วันแผนการแก้ไขปัญหาก็จะเสร็จสิ้นออกมา
"ต้องดูความพร้อมของธนาคารออมสินว่าทำได้หรือไม่ เรื่องนี้ยังอีกไกล ขอเรียนว่าคณะผู้บริหารและเอสเอ็มอีแบงก์ยังทำงานและให้บริการเป็นปกติอยู่"
อย่างไรก็ตามทั้งเอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารออมสินถือว่าเป็นของรัฐบาล ขนาดของทั้งสองไม่ได้ใหญ่โตมากนัก รัฐบาลดูแลได้อยู่แล้ว ซึ่งแนวทางการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นการตั้งงบประมาณประจำปี 2557 เพื่อเพิ่มทุนให้เอสเอ็มอีแบงก์บริหารงานต่อไป หรือแยกหนี้ที่มีปัญหาออกมา หรือกระทั่งดำเนินการธุรกิจควบรวม ถือว่าเป็นหลักการที่เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
"เวิลด์แบงก์ได้ทำข้อเสนอถึงกระทรวงการคลังมานานแล้ว โดยมีความเห็นว่าเอสเอ็มอีแบงก์อาจจะเป็นธนาคารขนาดเล็กเกินไป ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ก็มีเรื่องของเอสเอ็มอีอยู่ในหมวดหมู่
ของธนาคารอยู่แล้ว อย่าไปกังวลหรือตกใจอะไร นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น จนคนไปผูกโยงกับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่เรื่องไปผูกโยงกับอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น"
นายกิตติรัตน์ยังกล่าวถึงสถานการณ์ของเอสเอ็มอีแบงก์ขณะนี้ว่าหากจะมีอาการน่าเป็นห่วงก็คงจะต้องห่วงกันมาสักพักเพราะนี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันไม่ว่าในอดีตจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรก็ตาม แต่งานของรัฐบาลนี้น่าจะเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2555 เอสเอ็มอีแบงก์มีสินทรัพย์อยู่ 98,712 ล้านบาท หนี้สิน 96,329 ล้านบาท สินเชื่อคงค้าง 96,797 ล้านบาท เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อคงค้าง 33% หรือ 31,986 ล้านบาท บีไอเอส 1%