ปตท. ขาดทุนไตรมาสแรกปีนี้กว่า 1,500 ล้าน เหตุโควิด-19 ระบาดหนักจนเกิด Stock Loss
วันนี้ (11 พ.ค.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรก ของปี 2563 ว่า มีผลขาดทุนสุทธิ 1,554.36 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิลดลง 105.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 29,312.08 ล้านบาท
โดยมีรายงานว่าถือเป็นผลประกอบการรายไตรมาสของ ปตท. ที่ขาดทุนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2544
ทั้งนี้ ปตท. และบริษัทย่อยมียอดขายในไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 483,567 ล้านบาท ลดลง 67,307 ล้านบาท หรือ 12.2% จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลง 13.7% จากไตรมาสก่อน ซึ่งรายได้จากการขายที่ลดลงมาจากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ เป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ย และปริมาณขายเฉลี่ยลดลง ยกเว้นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรม
ขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 1/63 ที่ 32,385 ล้านบาท ลดลง 59.8% จากไตรมาส 1/62 สาเหตุหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ขาดทุนจากสต็อกน้ำมันในไตรมาส 1/63 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างมากในสิ้นไตรมาสมาอยู่ที่ 23.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 67.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นไตรมาส 4/62
กำไรขั้นต้นจากการกลั่นซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน (Market GRM) ปรับลดลงตามส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูงกับน้ำมันดิบที่ลดลง อีกทั้งส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซฯ มีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักมาจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายและปริมาณขายที่ลดลง และธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายอ้างอิงราคาน้ำมันเตาที่ลดลง
สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันมีผลการดำเนินงานลดลงจากขาดทุนสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของกลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เมื่อเดือน มี.ค.62 ในขณะเดียวกันธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากรายได้การขายที่เพิ่มขึ้น โดยหลักจากโครงการมาเลเซียและกลุ่มพาร์เท็กซ์ (Partex)
ขณะที่ในไตรมาส 1/63 ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้สกุลต่างประเทศและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ แม้ว่ากำไรจากตราสารอนุพันธ์จะเพิ่มขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ตาม บมจ.ปตท. (PTT) ระบุว่า เตรียมแผนรับมือจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างจนส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับสงครามราคาน้ำมันที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีความผันผวนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในปีนี้ โดยทั้งกลุ่ม ปตท.ตั้งสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 63 ที่ระดับ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และค่าการกลั่นจะลดลงจากปีที่แล้ว พร้อมทั้งปรับตัวบริหารสภาพคล่อง ตามมาตรการ “ลด-ละ-เลื่อน” โดยคาดว่าทั้งกลุ่ม ปตท.จะลดงบลงทุนในปีนี้ได้ราว 10-15%
PTT ระบุว่าผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน สำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คาดว่าปริมาณขายเฉลี่ยในปีนี้จะต่ำกว่าแผนที่ตั้งไว้ประมาณ 7% จากปริมาณขายที่ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ในภาคไฟฟ้าและปิโตรเคมี
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คาดว่าความต้องการใช้ในปีนี้จะลดลง 5-10% จากปีก่อน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ขณะที่ธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ผ่านบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG) จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากปริมาณขายและอัตราค่าบริการถูกกำหนดไว้ตามประกาศที่อนุมัติโดยภาครัฐ
ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก รวมถึงการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นในประเทศ และปริมาณความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ปริมาณขายของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะปริมาณการน้าเข้า (Out-In) และปริมาณการค้านอกประเทศ (Out–Out) ซึ่งจากการประมาณการคาดว่าปริมาณขายในปี 63 จะลดลงจากปี 62 ประมาณ 3-5% ขณะที่กำไรขั้นต้น อาจจะลดลงตามปริมาณขายที่ลดลง เนื่องจากตลาดอยู่ในสภาวะอุปทานล้นตลาด
ธุรกิจน้ำมัน ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศที่ลดลงส่งผลต่อปริมาณการจำหน่ายของทั้งธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจะแปรผันตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง GDP ของไทยได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ามันสำเร็จรูปทั้งน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน
ธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือน้ำมันอากาศยาน จากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ให้หยุดการดำเนินงานของสายการบินต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นของกลุ่ม ปตท. ได้ปรับเปลี่ยนแผนการผลิต โดยลดปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยานลง และหันไปผลิตน้ำมันดีเซลแทน เนื่องจากปริมาณความต้องการในตลาดยังไม่ลดลงมากนัก ทำให้กลุ่ม ปตท. คาดการณ์อัตรากำลังการผลิต (Utilization Rate) ของโรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. ในปี 63 อยู่ที่ 90-100%
ธุรกิจไฟฟ้า กระทรวงพลังงานคาดการณ์ปริมาณใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 63 จะลดลง 0.7% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2-3% ซึ่งธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ที่จำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ในขณะที่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IUs) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
สำหรับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการ “ลด-ละ-เลื่อน” ได้แก่
“ลด” ค่าใช้จ่ายและการจ้างงานบุคคลภายนอกโดยเน้นดำเนินงานด้วยตนเองให้มากที่สุด
“ละ” การเดินทางและกิจกรรมที่ไม่จำเป็น
“เลื่อน” การลงทุนที่ไม่เร่งรัดโดยการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน
โดยคาดว่าทั้งกลุ่ม ปตท.จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และทบทวนปรับลดแผนการลงทุน (CAPEX) ในปี 63 ได้ประมาณ 10-15% อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โครงการท่อก๊าซฯ เส้นที่ 5 ของ ปตท. และโครงการพลังงานสะอาด ของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ยังคงดำเนินการตามแผนลงทุนเดิม ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ยังเน้นย้ำการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง (Cost Conscious)
กลุ่ม ปตท. เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด และสามารถปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งวางแผนปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ เพื่อให้กลุ่ม ปตท. มีความพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากการประเมินฐานะการเงิน แม้เป็นกรณี Stress case ปตท. และกลุ่ม ปตท. ยังคงสามารถลงทุนตามแผนการลงทุน (committed capital expenditure) 5 ปีตามมาตรการ ลด ละ เลื่อน และสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ น่าลงทุน (investment grade) และ/หรือสูงกว่า
ทั้งนี้ ปตท. สามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ BBB+ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศ โดยยังมีสภาพคล่องที่สูงและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง