การบินไทย เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 63 ขาดทุน 2.8 หมื่นล้านบาท
เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการ 6 เดือน (ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 63) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ขาดทุนจำนวน 28,016 ล้านบาท โดยไตรมาสที่ 1 ขาดทุน 22,676 ล้านบาท ส่วนไตรมาสที่ 2 ขาดทุน 5,339 ล้านบาท
โดยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลหลายประเทศจำเป็นต้องควบคุม และจำกัดการเดินทางอย่างเข้มงวด ทำให้ปริมาณความต้องการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลงอย่างมาก ทางบริษัทจึงได้ปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง รวมทั้งมีมาตรการและการบริหารจัดการด้านการเงินและกระแสเงินสดอย่างเคร่งครัด
โดยไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 38,001 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 11,790 ล้านบาท (23.7%) สาเหตุมาจากรายได้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 42,609 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 8,010 ล้านบาท ลดลง 15.8% บริษัทและบริษัทย่อยมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 22,676 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 456 ล้านบาท
สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกอย่างรุนแรงอีกทั้ง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานขนส่งผู้โดยสารทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ทำให้บริษัทจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดเป็นการชั่วคราว โดยบริษัทยังคงดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนอย่างเข้มงวดและรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้บริษัทสามารถมีเงินสดในมือให้มากที่สุด
ในไตรมาสนี้ได้ทำการบินเฉพาะเที่ยวบินขนส่งสินค้าเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเที่ยวบินพิเศษเพื่อนำคนไทยกลับบ้าน ทำให้มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 96.5% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 99.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 10.3% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยที่ 74.7% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.08 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 98.6% สำหรับด้านการขนส่งสินค้ามีอัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 99.9% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 52.8%
เนื่องจากบริษัทหยุดทำการบินชั่วคราว ทำให้บริษัทและบริษัทย่อย ขาดรายได้จากธุรกิจการบิน แต่มีรายได้ในส่วนอื่นทดแทน ได้แก่รายได้จากการขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษการให้บริการสายการบินลูกค้า การจำหน่ายอาหารจากครัวการบิน ทำให้บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,492 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 40,017 ล้านบาท หรือ 94.1%
แต่ในไตรมาสที่ 2 นี้ บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ฝ่ายบริหารและพนักงานร่วมกันสมัครใจปรับลดเงินเดือนตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2563 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัท ทำให้มีค่าใช้จ่ายรวม 16,193 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 33,428 ล้านบาท หรือลดลง 67.4% ส่งผลให้ บริษัท และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงาน ขาดทุน สุทธิ 5,353 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,525 ล้านบาท หรือลดลง 22.2%