ส่อง 3 มาตรการกระตุ้นจับจ่าย รัฐคาดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาท
ศบศ. ปลดล็อกเราเที่ยวด้วยกันเที่ยวในจังหวัดได้ พร้อมเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน, คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน คาดเงินเข้าสู่ระบบกว่า 200,000 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ศบศ. ว่า ได้มีการขยายโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ออกไปจนถึงเดือน ม.ค. 64 โดยปรับเงื่อนไขบางประการเพื่อกระตุ้นให้คนใช้สิทธิ์เดินทางมากขึ้น
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศมี 3 กลุ่ม ดังนี้
- การเพิ่มวงเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน 14 ล้านคน คนละ 500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เดือน ต.ค.-ธ.ค. 63) วงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท
- โครงการคนละครึ่ง (Co-Pay) กำหนดโควตา 10 ล้านคน คนละ 3,000 บาท ใช้จ่าย 3 เดือน (เดือน ต.ค.-ธ.ค. 63) รัฐออกให้วงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท ประชาชนร่วมจ่าย 30,000 ล้านบาท คาดมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 60,000 ล้านบาท
- ช้อปดีมีคืน ช่วยผู้ประกอบการในระบบภาษี โดยให้ประชาชนซื้อของแล้วสามารถนำมาขอคืนภาษีได้สูงสุด 30,000 บาท (ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, บุหรี่, สลากกินแบ่งรัฐบาล, น้ำมัน, ค่าที่พัก และตั๋วเครื่องบิน) นำไปลดหย่อนภาษีได้ในช่วงเดือน มี.ค. 64 เริ่มใช้จ่าย 23 ต.ค. - 31 ธ.ค. 63 โดยคาดว่าจะมีคนใช้สิทธิ์ราว 4 ล้านคน เป็นวงเงินใช้จ่าย 120,000 ล้านบาท โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม. ในวันที่ 12 ต.ค.นี้
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศทั้ง 3 กลุ่มนี้ รัฐบาลจะใช้งบประมาณราว 60,000 ล้านบาท พร้อมคาดว่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 200,000 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 63 และย้ำว่าประชาชนจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง โครงการช้อปดีมีคืน หรือ โครงการคนละครึ่ง