อสมท. ปรับลดพนักงาน 600 คน หลังสถานะการเงินอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว!
เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า นายสิโรตม์ รัตนามหัทธนะ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ระบุ ในอดีต อสมท เคยเป็นสื่อสารมวลชนขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเห็นศักยภาพนั้น จึงแปลงสภาพจาก อ.ส.ม.ท. เป็น บมจ.อสมท ตั้งแต่ พ.ศ.2547 โดยเป็นสถานีโทรทัศน์ 1 ใน 6 ช่องที่แข็งแรงและผูกขาดอุตสาหกรรม โดยไม่มีช่องทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีมาแข่งขันได้เลย จนกระทั่ง กสทช.ได้จัดสรรช่องทีวีดิจิทัลตามกฎหมายใน พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ อสมท มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากกิจการของ อสมท ดำรงอยู่ได้ด้วยเงินจากการโฆษณา ซึ่งการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลทำให้เม็ดเงินดังกล่าวถูกตัดแบ่งออกไปสู่ช่องทีวีรายใหม่จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ที่จากเดิมประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ 6 ช่อง กลายเป็น 28 ช่องในทันที ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณายังคงอยู่เท่าเดิม
แม้ กสทช. ได้เคยเปิดให้คืนใบอนุญาตฯ ซึ่ง อสมท ได้คืน MCOT Family ช่อง 14 ไปเมื่อ พ.ศ.2562 เพื่อลดสกาวะการขาดทุนอย่างถาวร อันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของผู้บริหารในยุคนั้น
อีกทั้งภาวะที่ 2 การเกิด Digital Disruption คือ จำนวนผู้ชมโทรทัศน์และผู้ฟังวิทยุลดลงอย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ถูกโยกไปสู่สื่อดิจิทัลอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบแก่อุตสาหกรรมโทรทัศน์อย่างควบคุมไม่ได้
สำหรับธุรกิจวิทยุกระจายเสียงของ อสมท โดยเฉพาะวิทยุคลื่น FM จำนวน 6 สถานีในกรุงเทพฯ และอีก 53 สถานีในส่วนภูมิภาค ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากภาวะ Digital Disruption ในลักษณะเดียวกัน อสมท ได้เห็นสภาวะดังกล่าว จึงมีแนวคิดการเดินไปสู่ธุรกิจดิจิทัล โดยการเริ่มปรับโครงสร้งบริษัทโดยยกธุรกิจดิจิทัลขึ้นเป็นสายงานใหม่
แต่ต้องยอมรับว่า รายได้หลักของ อสมท เกิดจากโฆษณาทางโทรทัศน์และทางวิทยุ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างการตลาดและการขายของบริการโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อดิจิทัลต่าง ๆ ภายใน อสมท ในรูปแบบ Bundling หรือ Solution ตามความต้องการของลูกค้า
นอกจากนี้ ภาวะที่ 3 ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไร้สโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ อันเป็นภาวะที่ควบคุมไม่ได้และยังไม่มีจุดสิ้นสุด ส่งผลทวีคูณให้แก่ทั้ง 2 ภาวะข้างต้น
กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นได้ประเมินธุรกิจลักษณะเดียวกับ อสมท ว่าจำนวนพนักงานที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจในอนาคตของ อสมท คือ 700 คน ในขณะที่ปัจจุบัน อสมท มีพนักงานมากถึง 1,300 กว่าคน ไม่รวมถึงลูกจ้าง โดยแนะนำให้ อสมท พิจารณาจัดโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) เพื่อปรับ ลดพนักงาน ให้เหมาะสม โดยฝ่ายบริหารแนะนำให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าร่วมโครงการ ควรมีเป้าหมายในการบริหารจัดการงินที่ได้รับจากโครงการฯ อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันสถานะทางการเงินของ อสมท อยู่ในขั้นวิกฤต โดยต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ MSP โดยฝ่ายบริหารจะปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ภายหลังจากการดำเนินโครงการ MSP ในทันที
อสมท จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความร่วมมือพนักงานทุกท่านปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ โดยฝ่ายบริหารจะยังไม่มีการปรับลดเงินเดือนที่ท่านได้รับอยู่แต่อย่างใด จึงขอให้ทุกท่านปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ
ท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าคณะกรรมการและฝ่ายบริหารของ อสมท จะมุ่งมั่น พลิกฟื้น อสมท ให้ได้ในอนาคต แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ควบคุมไม่ได้ และขอขอบคุณทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการ MSP เพราะท่านคือผู้เสียสละที่จะทำให้ อสมท สามารถปรับตัวและอยู่รอดต่อไปได้และขอขอบคุณพนักงานที่ยังอยู่กับ อสมท เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
อสมท จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องขอความร่วมมือพนักงานทุกท่านปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ โดยฝ่ายบริหารจะยังไม่มีการปรับลดเงินเดือนที่ท่านได้รับอยู่แต่อย่างใด จึงขอให้ทุกท่านปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ”
หากย้อนกลับไปดูผลประกอบการของ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) พบว่า หลายปีที่ผ่านมาติดลบอย่างต่อเนื่อง มูลค่าและทรัพย์สินรวมถึงราคาหุ้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- ปี 2559 รายได้ 2,830.38 ล้านบาท ขาดทุน 734.89 ล้านบาท ราคาหุ้น 14.40 บาท
- ปี 2560 รายได้ 2,736.45 ล้านบาท ขาดทุน 2,542.35 ล้านบาท ราคาหุ้น 11.60 บาท
- ปี 2561 รายได้ 2,562.37 ล้านบาท ขาดทุน 375.72 ล้านบาท ราคาหุ้น 9.10 บาท
- ปี 2562 รายได้ 2,968.37 ล้านบาท ขาดทุน 457.46 ล้านบาท ราคาหุ้น 9.75 บาท
- ครึ่งปี 2563 รายได้ 788.67 ล้านบาท ขาดทุน 1,061.34 ล้านบาท ราคาหุ้น 3.04 บาท