“บ้านศิลาดล” ปั้นดินให้เป็นแบรนด์

“บ้านศิลาดล” ปั้นดินให้เป็นแบรนด์

“บ้านศิลาดล” ปั้นดินให้เป็นแบรนด์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่น่าเชื่อว่าจากดินท้องนาที่ดูไม่มีค่าในสายตาใครหลายคน จะมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาเคลือบศิลาดลที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ จนกลายเป็นสินค้าระดับพรีเมียมที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวเชียงใหม่


หากคุณยังไม่รู้ว่า "ศิลาดล" คืออะไร...ลองไปฟังคำนิยามจากผู้ก่อตั้งแบรนด์ "บ้านศิลาดล" กันสักหน่อย

 

"ศิลาดล คือ เครื่องปั้นดินเผาแห่งแคว้นล้านนา เคลือบรานสีเขียวใสคล้ายหยก บนเนื้อดินที่เผาแกร่งเทียมหิน เพิ่มคุณค่าแห่งหัตถศิลป์ด้วยการแกะลวดลาย และการเขียนสีใต้เคลือบ"

บ้านศิลาดลเกิดและเติบโตขึ้นจากสองมือของทัศนีย์ ยะจา แม่หญิงชาวเชียงใหม่ แม้เธอจะจบการศึกษาด้านบริหารและเคยทำงานด้านการเงินการธนาคารมาก่อน จากตำแหน่งพนักงานรับจ่าย จนกระทั่งตำแหน่งสุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่สินเชื่อ แต่ทัศนีย์ก็ค้นพบว่า งานประจำไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต

 





"คนเราพอทำงานประจำถึงจุดหนึ่งจะมีความคิดว่า มีอะไรสักอย่างที่เราอยากจะทำจริงๆ จากการที่ได้เติบโตและเห็นงานหัตถกรรมบนถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพงมาตั้งแต่เด็ก ก็คิดว่าเราจะทำอะไรดี จึงมองไปที่ธุรกิจเครื่องเคลือบศิลาดล เพราะมองว่า ถ้าหากคนมาเชียงใหม่ต้องขายอะไร ก็ได้คำตอบว่าต้องขายความเป็นวัฒนธรรม เพราะงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อ เบื้องหลังความสำเร็จของงานหัตถกรรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกมาจากเชียงใหม่ จึงมาคิดว่าจะพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าเชิงการท่องเที่ยวให้กับเครื่องเคลือบศิลาดลได้อย่างไร"



นั่นคือจุดเริ่มต้นของ "บ้านศิลาดล" ธุรกิจที่นำเอางานหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนา มาเพิ่มคุณค่าเชิงการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาเครื่องเคลือบหัตถกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งเป็นตลาดหลักของบ้านศิลาดล

"ลูกค้าของเรามีทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งแบ่งเป็นลูกค้าไทย 20 เปอร์เซ็นต์ ต่างชาติ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีทั้งลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวมาซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึก และลูกค้าที่มาซื้อเพื่อนำไปส่งออกเองส่วนหนึ่ง ที่ผ่านมาเราเน้นเฉพาะตลาดในประเทศ ไม่ได้ผลิตเพื่อส่งออก เราทำกันแบบเล็กๆ แบบธุรกิจในครอบครัว จึงพยายามสร้างโอกาสในการทำตลาดตลาดประเทศ โดยการออกงานแสดงสินค้าต่างๆ"




ทัศนีย์บอกว่า ผลิตภัณฑ์ของบ้านศิลาดลไม่ใช่สินค้าที่เน้นเทคโนโลยีทันสมัย แต่เป็นการผลิตสินค้าที่เน้นคุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย เนื่องจากประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน สามารถนำเสนอคุณค่าทางประวัติศาสตร์ผ่านผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบศิลาดลได้ ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้สินค้าของบ้านศิลาดลมีความเหมาะสมในกลุ่มสินค้าระดับสูง (High touch)



"โชคดีที่โปรดักต์ที่เราทำนั้นมันแบ่งตลาดของเราชัดเจน แม้ช่วงหนึ่งเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ลูกค้าของเรายังคงมีกำลังซื้ออยู่" ทัศนีย์เล่าด้วยรอยยิ้ม "ตอนนี้พนักงานของเรามีทั้งหมด 80 คน แต่เป็นทีมงานที่มีศักยภาพ เราผลิตจำนวนน้อย เพราะงานฝีมือทุกคนก็คงทราบดีว่าจะต้องประณีต งานของเราขาย emotion ขาย feeling ขายอารมณ์ความรู้สึก และขายความเป็นเชียงใหม่ เราก็เลยดึงจุดขายนี้มาเพิ่มมูลค่า ทำให้สินค้าของเราบ่งบอกถึงรสนิยมของผู้ใช้"




จุดเด่นของเครื่องเคลือบบ้านศิลาดลอยู่ที่การผลิตที่เน้นงานทำมือทั้งหมด ผลิตภัณฑ์จะมีสีเขียวคล้ายหุ้มหยก ส่วนผิวเคลือบที่ได้จะรานตัวและแตกลายงา อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเครื่องเคลือบศิลาดล ส่วนกระบวนการผลิตจะยังคงยึดวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม เน้นการเขียนลวดลายและสีสันที่บ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาของคนไทย พร้อมนำมาผสมผสานกับการดีไซน์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้การใช้งานมีความหลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบันนี้ สินค้าของบ้านศิลาดลมีหลากหลาย ทั้งเครื่องใช้ในบ้านและบนโต๊ะอาหาร เช่น จาน, ชาม, แก้วน้ำ ของตกแต่งบ้าน เช่น แจกัน, โคมไฟ รวมไปถึงของขวัญและของที่ระลึกต่างๆ ล่าสุด ทัศนีย์ยังได้ขยายการผลิตสินค้าประเภทเครื่องประดับ เช่น จิเวลรี่ที่ถูกออกแบบให้เข้ากับรสนิยมของผู้ที่หลงใหลในกลิ่นอายงานฝีมือยุคเก่า




สำหรับเป้าหมายธุรกิจต่อไป ทัศนีย์บอกว่า เธอจะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบศิลาดลเชียงใหม่ ภายใต้แบรนด์ "บ้านศิลาดล" ให้เป็นผู้นำในการผลิตเครื่องเคลือบชั้นสูงที่มีเอกลักษณ์และทรงคุณค่า ให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในประเทศไทยและต่างประเทศ

"เราจะพยายามพัฒนาทำผลิตภัณฑ์ของเราให้เป็นภาพลักษณ์สินค้าที่มีคุณภาพของจังหวัดเชียงใหม่ และพัฒนาเครื่องเคลือบศิลาดลเชียงใหม่สู่ความเป็นอินเตอร์ ด้วยการพัฒนาองค์กรให้เป็นผู้นำที่ดีในด้านงานฝีมือ ความมุ่งหวังของเราก็คือ ต้องการให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หากคิดถึงเครื่องเคลือบศิลาดล คิดถึงจังหวัดเชียงใหม่ และคิดถึงบ้านศิลาดล"

เรื่อง : รัชตวดี จิตดี
ภาพ : ฝ่ายภาพ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook