เซ็นทรัล วืดประมูล เทสโก้ พร้อมปรับแผนใหม่ พลิกบางกอกโพสต์ทำกำไรยุคใหม่

เซ็นทรัล วืดประมูล เทสโก้ พร้อมปรับแผนใหม่ พลิกบางกอกโพสต์ทำกำไรยุคใหม่

เซ็นทรัล วืดประมูล เทสโก้ พร้อมปรับแผนใหม่ พลิกบางกอกโพสต์ทำกำไรยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแข่งขันในยุคปัจจุบัน ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว การปรับเปลี่ยนของพฤติกรรมลูกค้า การใช้เทคโนโลยี และการเข้ามาของยุคดิจิทัล ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ รวมถึงธุรกิจค้าปลีก

หลังจากยืดเยื้อและเป็นข่าวมานาน ในที่สุดวันนี้การประมูลกิจการ เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยและมาเลเซียก็ประกาศผลออกมาแล้วว่า "กลุ่มซีพี" เป็นผู้ชนะการประมูล ด้วยมูลค่า 3.38 แสนล้านบาท แต่หลายคนคงไม่ทราบว่า การประมูลเทสโก้ โลตัส ในครั้งนี้เป็นการประมูลแข่งขันกันของผู้เล่นขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพราะราคามากกว่า 3 แสนล้านบาท ย่อมไม่ใช่ผู้เล่นขนาดเล็ก และแน่นอนว่า กลุ่มเซ็นทรัล ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเข้าประมูลด้วย เพราะหากเครือเซ็นทรัลชนะการประมูล ก็จะทำให้เซ็นทรัลกลับมามีบทบาทในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตอีกครั้ง

หลายคนอาจไม่รู้ว่า เซ็นทรัลเคยเป็นผู้บุกเบิก และถือหุ้นส่วนหนึ่งในบิ๊กซีมาก่อน ไม่ต่างอะไรกับซีพีที่เคยบุกเบิกโลตัส ก่อนที่คาสิโนกรุ๊ป ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบิ๊กซีจะขายให้เครือทีซีซี แล้วเซ็นทรัลจึงขายหุ้นบิ๊กซีในเวลาต่อมา ดังนั้น การที่เครือเซ็นทรัลเข้าร่วมประมูลนั้น ส่งผลต่อยุทธศาสตร์ค้าปลีก โดยเฉพาะสำหรับเครือเซ็นทรัล

ถ้าเซ็นทรัลได้เทสโก้ โลตัส เซ็นทรัลจะมีช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติม ในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เซ็นทรัลไม่มี ในขณะเดียวกัน ท็อปส์ สามารถรวมเข้ากับ เทสโก้ โลตัสตลาด เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ส่วนในตลาดร้านสะดวกซื้อ แฟมิลี่มาร์ทสามารถรวมเข้ากับเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ได้

น่าสนใจว่า การพลาดเทสโก้ โลตัส จากการประมูลครั้งนี้ก็อาจเป็นสัญญาณบอกว่าธุรกิจค้าปลีกที่เซ็นทรัลเป็นผู้บุกเบิกในประเทศไทย เซ็นทรัลกำลังปรับยุทธศาสตร์เพื่อกลับมาชิงความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะยุคนิวนอร์มอล ล่าสุดได้ประกาศยุทธศาสตร์ 5 พร้อม ที่จะทำให้เซ็นทรัลค้าปลีกสามารถปรับตัวได้ในยุคที่ลูกค้ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ อีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจของกลุ่มจิราธิวัฒน์คือ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ที่ถือได้ว่า เป็นธุรกิจที่คุณสุทธิเกียรติ์ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบางกอกโพสต์เคยกล่าวว่า ธุรกิจสื่อยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวออกไปอย่างไร้ขอบเขต ทั้งนี้หนังสือ SIGN OF OUR TIMES ที่จัดพิมพ์ในโอกาสครบรอบ 72 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์คุณสุทธิเกียรติ์ จิราธิวัฒน์ ที่น่าสนใจมากว่า สื่อสิ่งพิมพ์จะอยู่รอด โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ และปรับตัวไปตามโลกยุคใหม่ เขาต้องตามให้ทันไม่เลิกธุรกิจสื่อ และกล่าวว่า ผมภูมิใจกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่สุด เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และจะคิดวิธีใหม่ๆ ที่ทำให้เป็นสื่อระดับภูมิภาคอีกด้วย

ดังนั้น บางกอกโพสต์ ภายใต้การบริหารของผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล จะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์สื่อ อย่างไรในช่วงนิวนอร์มอลนั้น เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีมผู้บริหารได้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางแผนรับมือกับวิกฤตมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้น คือ แผน "ยุทธศาสตร์ 5 พร้อม" ที่จะตอบโจทย์ความท้าทายในยุคนิวนอร์มอล (New Normal) ซึ่งได้พัฒนาไปสู่ความเป็น นาวนอร์มอล (NOW NORMAL) หรือ "โลกแห่งวิถีชีวิตปัจจุบัน" ได้แก่

1) พร้อม…พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
2) พร้อม…ยกระดับและชูมาตรฐานความสะอาด
3) พร้อม…ใช้นวัตกรรมและสร้างประสบการณ์ใหม่
4) พร้อม…ต้อนรับ และให้บริการลูกค้าทุกช่องทางในยุค NOW NORMAL
5) พร้อม…เร่งเครื่องแพลตฟอร์ม Central Retail & Service อย่างเต็มที่

นอกจากธุรกิจค้าปลีกแล้ว ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์สู่การเป็นสื่อออนไลน์ ก็ต้องปรับตัวอย่างมากเช่นกัน ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาทําลายธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวของสื่อต่าง ๆ เพื่อจะอยู่รอดในยุคดิจิตอลที่ทุกคนรู้จักกันดีนั้น มาถึงวันนี้สื่อดั้งเดิมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ก็ยังคงมีการทยอยปิดตัวลงไปเรื่อย ๆ และเริ่มปิดกันมากขึ้นในระยะนี้ แม้ว่าสื่อต่าง ๆ ทั้งโลกและในบ้านเราต่างหาทางเอาตัวรอด แต่แน่นอนการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยของอินเทอร์เน็ตและดิจิตอลของแต่ละเจ้ามีทั้งเร็วและช้า มากและน้อย ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของเจ้าของและผู้บริหาร ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วบริษัทบางกอกโพสต์ก็อยู่ในกลุ่มที่ยังรักษาสถานะได้เป็นอย่างดี

 

ปัจจุบันบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีทุนจดทะเบียน 505 ล้านบาท และมีมูลค่าบริษัทประมาณ 745 ล้านบาท โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งคือ คุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ที่ถือหุ้นในบริษัทนี้ถึง 24.22% และยังมีท่านอื่นในตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอันดับแรก ๆ คิดเป็นสัดส่วนรวมแล้วกว่า 43.6%

นอกจากนี้ คุณสุทธิเกียรติ ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหารอีกด้วย แล้วตระกูลจิราธิวัฒน์เริ่มเข้ามาในกิจการนี้ตอนไหน? ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2519 Bangkok Post ที่ในตอนนั้น ชื่อว่า บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 1.4 ล้านบาท โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้มีคนไทยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ทำให้เริ่มมีกลุ่มคนไทยก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 Bangkok Post ก็ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้มีคนไทยเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้นอีก

แล้วในปัจจุบันผลประกอบการของ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) เป็นอย่างไร?
ปี 2560 รายได้ 1,367 ล้านบาท ขาดทุน 359 ล้านบาท ปี 2561 รายได้ 1,270 ล้านบาท ขาดทุน 168 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 815 ล้านบาท ขาดทุน 309 ล้านบาท โดยรายได้ของบริษัทแบ่งเป็น ธุรกิจหนังสือพิมพ์ 64% ธุรกิจนิตยสารต่างประเทศ 20% ธุรกิจผลิตคอนเทนต์และรายการโทรทัศน์ 15% รายได้อื่น ๆ 1%


คุณสฤษฎ์เดช มฤคทัต บรรณาธิการข่าวดิจิทัล บางกอกโพสต์ กล่าวไว้ในงานสัมมนาดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่จฬา ว่า Digital Disruption ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (Technology Change) ที่เกิดขึ้นมาตลอดกับอุตสาหกรรมสื่อ แต่สิ่งที่แตกต่างจากอดีต คือ เดิมการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเป็นพัฒนาการด้านผลิตที่คนทำสื่อได้ประโยชน์ เช่น ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต คนทำหนังสือพิมพ์ก็ต้องเข้าไปเขียนงานที่สำนักพิมพ์ เมื่อมีอินเทอร์เน็ตใช้ สามารถส่งข่าวจากที่ไหนก็ได้ เป็นความสะดวกทางด้านการผลิตสื่อที่ได้จากเทคโนโลยี

แต่ยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น เป็นสิ่งที่กระทบบุคคล จุดเปลี่ยนคือ "ดิจิทัล แพลตฟอร์ม" ที่ทำให้ทุกคนทำสื่อได้ และเลือกเสพสื่อได้เอง หน่วยงานต่าง ๆ มีช่องทางการสื่อสาร หรือ เผยแพร่ข่าวเองผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊กของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่อัพเดทข่าวสารการเดินรถทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว โดยที่สื่อไม่ต้องลงพื้นที่ไปทำข่าว หรือ ธนาคาแห่งประเทศไทยใช้ Facebook Live แถลงข่าวและชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นกระแสสังคม เรียกว่าเป็นยุคที่ "แหล่งข่าวให้ข่าวกับผู้เสพสื่อเองโดยตรง"


"บางกอกโพสต์ เองมีความชัดเจนในการมุ่งสู่ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ต้องจับกลุ่มใหม่ 20-35 ปี เพื่อความยั่งยืนขององค์กร ส่วนหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษเลิกแข่งความเร็ว มาแข่งความลึก สร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อชนะสื่ออื่น ๆ ด้วยข้อมูล วันนี้วงการสื่อยังขาดคนต่อยอดข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ข่าวแตกต่าง การคิดได้เหนือกว่า คือชนะ คนสื่อต้องสะสมองค์ความรู้ มีความรอบลึก เพื่อทำให้องค์กรแข็งแกร่งและอยู่รอดได้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook