นิวแลนด์...แดนที่ราบสูง "10 สุดยอด" ติดปีกเศรษฐกิจอีสาน
ดินแดนที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ที่เคยแห้งแล้งกันดาร ยากจน มีรายได้ประชากรรั้งท้ายของประเทศ วันนี้ภาคอีสานได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว กลายเป็นที่หมายปองของนักลงทุนทั้งไทยและเทศ
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาคอีสานได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านถนนหนทาง สะพานข้ามแม่น้ำโขงทั้ง 3 แห่ง (หนองคาย มุกดาหาร นครพนม)
ทำให้การสัญจรและขนส่งสินค้าสะดวกรวดเร็วมากขึ้นทั้งในประเทศและเชื่อมสู่ ประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะเดียวกันก็มีการลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคค้าปลีก การค้าชายแดน รวมถึงด้านพลังงานทางเลือก ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และเอทานอล
ภาค อีสานพลิกโฉมครั้งใหญ่ในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เจ้าของนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้า และนำพาประเทศสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่
ในยุคนั้น ราคาที่ดินทั่วประเทศพุ่งขึ้นหลายเท่าตัวรับกระแสเศรษฐกิจบูม อานิสงส์ที่ส่งตรงถึงภาคอีสานก็คือ การขยายถนนมิตรภาพเป็นถนนสี่เลน
หลายคนกลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืนจากการขายที่ดินในยุคนั้น คนหนุ่มสาวในภาคอีสานเกือบ 80% ละทิ้งหมู่บ้าน หนีความแห้งแล้งกันดารออกมาแสวงโชคหางานทำในเมืองหลวง
มุ่งหน้ามาเป็นสาวโรงงาน มาขับแท็กซี่ หรือมาเป็นกรรมกรก่อสร้างพวกเขาคือปัจจัยการผลิตต้นทุนต่ำให้กับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่
ในยุคนี้ พวกเขาเหล่านั้นเริ่มทยอยกลับถิ่นฐานบ้านเกิด มีทั้งกลับไปเป็นแรงงานในหัวเมืองใหญ่ บางส่วนกลับไปสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเถ้าแก่ในกิจการร้านค้าต่าง ๆ หรือเป็นผู้รับเหมา บางส่วนกลับไปปลูกยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจดาวรุ่งของภาคอีสาน
ในยุคนี้ อีสานได้เปลี่ยนไปแล้ว ต่อไปนี้คือ 10 สุดยอดที่อีสานมี แต่ที่อื่นไม่มี
1) ภาคอีสาน...มีเนื้อที่มากที่สุดของประเทศไทย 168,854 ตารางกิโลเมตร หรือมีเนื้อที่ร้อยละ 33.17 เทียบได้กับหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทย และยังเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงสู่กลุ่มอาเซียน
ปัจจุบัน ภาคอีสานมีทั้งสิ้น 20 จังหวัด ได้แก่ 1.กาฬสินธุ์ 2.ขอนแก่น 3.ชัยภูมิ 4.นครพนม 5.นครราชสีมา 6.บึงกาฬ 7.บุรีรัมย์ 8.มหาสารคาม 9.มุกดาหาร 10.ยโสธร 11.ร้อยเอ็ด 12.เลย 13.สกลนคร 14.สุรินทร์ 15.ศรีสะเกษ 16.หนองคาย 17.หนองบัวลำภู 18.อุดรธานี 19.อุบลราชธานี 20.อำนาจเจริญ
2) ภาคอีสาน...มีจำนวนประชากรมากที่สุดของประเทศ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานจำนวนประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2556 ว่า ภาคอีสานมีจำนวนประชากรมากที่สุด 19,093,000 คน รองลงมาคือ ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) 17,511,000 คน ภาคเหนือ 11,588,000 คน ภาคใต้ 8,640,000 คน และกรุงเทพฯ 7,791,000 คน
3) ภาคอีสาน...เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นดีที่สุดของประเทศและของโลก
4) ภาคอีสาน...เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังส่งออกมากที่สุดของประเทศ และยังเป็นแหล่งปลูกอ้อยป้อนอุตสาหกรรมน้ำตาล และผลิตเอทานอล
5) ภาคอีสาน...เป็นแหล่งปลูกยางพารา ปัจจุบันสามารถเปิดกรีดน้ำยางได้แล้ว กลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับคนอีสานในเวลานี้
6) ภาคอีสาน...เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ยุคอารยธรรมขอม เป็นจุดเด่นที่สำคัญของการท่องเที่ยวอีสาน
7) ภาคอีสาน...เป็นภาคที่มีกำลังแรงงานมากที่สุดทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
8) ภาคอีสาน...มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากที่สุด เป็นฐานเสียงที่เป็นตัวชี้ขาดในการจัดตั้งรัฐบาล
9) ภาคอีสาน...เป็นภาคที่มีเขยฝรั่งมากที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จึงเป็นกลุ่มลูกค้าที่ห้างสรรพสินค้าในหัวเมืองใหญ่ทั้งโคราช ขอนแก่น อุดรธานี ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
10) ภาคอีสาน...เป็นบ้านหลังที่สองของบรรดาเศรษฐีกรุงเทพฯ ที่หนีภัยน้ำท่วมและสะสมทรัพย์สิน แห่ไปซื้อที่ดินสร้างบ้าน หรือทำรีสอร์ตอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะในโซนของอำเภอปากช่อง เขาใหญ่ วังน้ำเขียว สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ล่าสุดรัฐบาลนางสาวยิ่ง ลักษณ์เร่งแจ้งเกิดโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย ก็ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคอีสานคู่ขนานไปกับกระแสการ เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้
นี่คือความได้เปรียบที่ทำให้เศรษฐกิจอีสานโตก้าวกระโดด