ย้อนรอย 1 ทศวรรษยุค "ทองคำ" ความท้าทายครั้งใหม่ของ "Safe Haven"
ในที่สุด "ทองคำ" ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่นักค้าทองต่างภาคภูมิใจ ว่าเป็นสวรรค์แห่งการลงทุนที่ปลอดภัย หรือ Safe Haven ก็ถล่มลงมาอย่างรุนแรงแบบไม่มีใครคาดฝัน
จากบาทละ 21,000 บาท เหลือแค่ราว 18,000 บาท ภายในระยะเวลาอันสั้นเพียง 5 วัน ทำให้นักลงทุนต่างอกสั่นขวัญแขวนไปตาม ๆ กัน อาณาจักรทองคำที่รุ่งเรืองกว่า 1 ทศวรรษจะพังทลาย จนสิ้นสุดยุคความรุ่งเรืองจริงหรือ ?
ฝ่ายวิจัย บริษัทออสสิริส ฟิวเจอร์สที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำ ได้ไล่เรียงประวัติศาสตร์ และสถานการณ์ที่ผลักดันให้ "ทอง" กลายเป็นสินทรัพย์ที่ทวีความสำคัญมายาวนาน แม้ทองคำจะได้รับความนิยมทั้งในแง่ "รูปพรรณ" เพื่อการสวมใส่ และ "ทองแท่ง" เพื่อการใช้เป็นทุนสำรองของธนาคารกลางแต่ละประเทศ แต่การแกว่งตัวของราคาก็ยังคงมีทิศทางเคลื่อนไหวในกรอบแคบมาก โดยในปี 2544 อยู่ที่ระดับ 250 เหรียญต่อออนซ์ หรือคิดเป็นเงินไทยไม่ถึง 10,000 บาท
หลังจากนั้นช่วงประมาณปี 2549 สหรัฐก็ได้สร้างจุดเปลี่ยนวงการทอง จากการประกาศยกเลิกนโยบายสำรองทองคำเพื่อใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิงออกธนบัตร จึงทำให้นักลงทุนเริ่มหวาดวิตกว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ จนต้องหันมาเก็บสะสมทองคำเพื่อบริหารความเสี่ยงแทน เพราะในยุคที่เงินตรามีค่าน้อย ทองคำก็ยังคงมีคุณค่าเหนือกว่า เนื่องจากเป็นสิ่งของหายาก มีปริมาณไม่มากนัก จุดเริ่มนี้เอง ทำให้สถานะของการเป็น "Safe Haven" ชัดเจนขึ้น
จากผลดังกล่าว จึงทำให้ราคาทองคำไต่ระดับขึ้นเป็น 500 เหรียญต่อออนซ์ หรือประมาณบาทละ 10,000 บาทได้ในที่สุด
ช่วงปี 2551-2552 ราคาทองขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 700 เหรียญ ไปสู่ 1,000 เหรียญ คิดเป็นบาทละ 12,000-14,500 บาท เพราะได้รับแรงกระตุ้นจาก "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" ทำให้นักลงทุนที่หวาดวิตกต่อการลงทุนที่มีความเสี่ยง จึงพากันย้ายเงินเข้ามาลงทุน "ทองคำ" ในฐานะที่เป็นของมีค่ากว่า "Safe Haven" เปรียบเสมือน "สกุลเงินตรา" ที่มีความแข็งแกร่ง ดึงดูดให้เกิดการ "เก็งกำไร" อย่างคึกคัก
และเมื่อปัญหาซับไพรมเริ่มคลี่คลาย ราคาทองก็มีทิศทางอ่อนตัวลงเล็กน้อย แล้วรัฐบาลสหรัฐก็พิมพ์เงินออกมาอีกครั้ง เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินในรูปของ "มาตรการทางการเงินเชิงปริมาณ" หรือมาตรการ QE (Quantitative Easing) แบบต่อเนื่อง โดยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ส่งผลให้มีเงินสภาพคล่องหมุนเวียนทั่วโลกอย่างมาก ผลักดันให้ราคาทองทะยานต่อ ทั้งที่ควรจะถึงจังหวะปรับฐานแล้ว โดยนับตั้งแต่ปี 2553 (2010) ราคาทองก็ไม่เคยร่วงต่ำกว่า 1,000 เหรียญ หรือบาทละ 16,500 บาทอีกเลย
จนกระทั่งในช่วงวันที่ 12-16 เมษายน 2556 ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ที่ตลาดการลงทุนในประเทศอยู่ในภาวะหยุดยาว ก็เกิดสิ่งไม่คาดฝันขึ้น เมื่อราคาทองปรับลดรุนแรงจากระดับราว 1,566 เหรียญ
ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 1,300 เหรียญ หรือจากบาทละ 21,250-21,350 บาท มาอยู่ที่ราว 1.9 หมื่นบาท เป็นผลจากแรงกดดันต่อข่าวที่ว่าไซปรัสจะขายทองคำที่เป็นทุนสำรองในประเทศออก
และมีแนวโน้มว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอาจจะขายออกมาด้วย ประกอบกับ SPDR ซึ่งเป็นกองทุนอีทีเอฟทองคำขนาดใหญ่ก็ขายทองออก 35.5 ตัน ทำให้ราคาทองดิ่งลึกสุดในรอบ 32 ปี จนนักวิเคราะห์หลายสำนักฟันธงว่า "ทองคำ" ได้เข้าสู่ขาลง หรือตลาดหมีแล้ว
สะท้อนถึงการหมดรอบขาขึ้นของทองคำไปแล้ว แต่จากนี้ความท้าทายครั้งใหม่ยังรออยู่ข้างหน้า เพื่อพิสูจน์ว่า "ทองคำ" จะยังสามารถรักษาสถานะความเป็น "Safe Haven" ไว้ได้หรือไม่ ความรุ่งเรืองกว่า 1 ทศวรรษ จะเป็นเพียงประวัติศาสตร์ หรือเป็นข้อเท็จจริงตอกย้ำความแข็งแกร่งของสินทรัพย์นี้