ซีพีผงาดยึดค้าปลีก 2.4 ล้านล.ซื้อแม็คโครผนึกเซเว่น-เฟรชมาร์ทต่อจิ๊กซอว์ "ธนินท์" มุ่งครัวโลก

ซีพีผงาดยึดค้าปลีก 2.4 ล้านล.ซื้อแม็คโครผนึกเซเว่น-เฟรชมาร์ทต่อจิ๊กซอว์ "ธนินท์" มุ่งครัวโลก

ซีพีผงาดยึดค้าปลีก 2.4 ล้านล.ซื้อแม็คโครผนึกเซเว่น-เฟรชมาร์ทต่อจิ๊กซอว์ "ธนินท์" มุ่งครัวโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยักษ์ซีพีผงาดค้าปลีกไทย เซเว่นฯควักกระเป๋า 1.8 แสนล้าน ฮุบค้าส่ง "แม็คโคร" สร้างสถิติใหม่ซื้อกิจการในเมืองไทย "ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์"

เผยทิศทางธุรกิจ ชูเป็นหัวหอกบุกเออีซี-จีน จับตาแผนซินเนอร์ยี่ "เซเว่นฯ-เฟรชมาร์ท-แม็คโคร" ยึดตลาดอาหาร-ของกินของใช้ ขณะที่ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าจับตา หวั่นถูกกดราคาสินค้า ชี้ผลพวงจากการกินรวบตลาด โชห่วยกระทบหนัก

หลังจาก "ประชาชาติธุรกิจ" นำเสนอข่าว "แม็คโคร" ตั้งที่ปรึกษา "ขายกิจการ" เมื่อต้นเดือนเม.ย. ซึ่งต่อมาบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา สยามแม็คโคร ได้ข้อสรุปการขายกิจการในเมืองไทย โดยมีบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือเซเว่นอีเลฟเว่น เป็นผู้คว้าดีลนี้ไปด้วยวงเงินกว่า 1.8 แสนล้านบาท


ซื้อแม็คโครเสริมแกร่ง-บุกเออีซี

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดีลนี้คุยกันแค่ 10 วันเท่านั้น โดยในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ซีพี ออลล์ จะประชุมผู้ถือหุ้น ถ้าหากเห็นชอบการซื้อขายจะเกิดขึ้นทันที และการผนึกกำลังครั้งนี้เพื่อเข้าสู่ยุคเออีซี ซึ่งมีประชากร 10 ประเทศ รวมกว่า 600 ล้านคน นอกจากนี้

ซีพี ออลล์ ยังมองไปถึงประเทศจีนด้วย การซื้อหุ้นครั้งนี้บริษัทจะได้สิทธิ์ในการใช้ชื่อและตราของแม็คโครขยายตลาดได้ทั่วโลก ยกเว้นอินเดีย เบื้องต้นที่สนใจคือ ลาว เวียดนาม พร้อมกันทั้ง 2 ประเทศ

การขยายไปต่างประเทศของแม็คโคร จะเป็นช่องทางกระจายสินค้าของซีพีไปยังต่างประเทศ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค, สินค้าการเกษตร อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ฯลฯ ขณะที่เซเว่นฯยังสามารถซัพพอร์ตในเรื่องบุคลากรที่มีสถาบันปัญญาภิวัฒน์รองรับ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้ อาทิ เมื่อมีการผนึกกันทำให้ยอดซื้อจากซัพพลายเออร์แต่จะรายมีวอลู่มสูงขึ้น ทำให้ได้สินค้าราคาถูกลง

"การนำแม็คโครไปเออีซีเพราะเซเว่นฯมีข้อจำกัดในการขยายไปต่างประเทศ เพราะมีไลเซนส์เฉพาะในไทยเท่านั้น ขณะนี้ได้ขอไลเซนส์ไปที่จีน ซึ่งต้องรอความชัดเจนปีหน้าว่าจะได้สิทธิ์ในมณฑลไหน สำหรับทีมบริหารระหว่างนี้ แม็คโครขยายสาขาได้ตามปกติ หากมีแผนอะไรก็มาเสนอได้ จะไม่มีการเปลี่ยนทีมผู้บริหาร หรือเข้าไปยุ่งการบริหาร เนื่องจากมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว"

ส่วนราคาซื้อต่อหุ้นไม่แพง และเชื่อว่าอีก 2-3 ปีจะคุ้ม ซึ่งมูลค่าการซื้อขายครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยยอดขายของซีพีปีที่แล้ว กับยอดขายแม็คโครปีที่แล้ว 3 แสนกว่าล้าน ส่วนมูลค่าตลาดค้าปลีกค้าส่งของไทยอยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมานายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้วางยุทธศาสตร์ธุรกิจของกลุ่มซี.พี.เพื่อมุ่งสู่การเป็นครัวของโลก โดยอาศััยจุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนตลาดโลก

ขณะที่นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทซีพี ออลล์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติซื้อหุ้นในบริษัทสยามแม็คโคร สัดส่วน 64.35% และเอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บี.วี. ในราคาหุ้นละ 787 บาท รวม 121,536 ล้านบาท รวมทั้งจะทำคำเสนอซื้อหุ้นสยามแม็คโคร (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) จากผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เหลือทั้งหมดหุ้นละ 787 บาทเช่นกัน คาดว่าการทำคำเสนอซื้อจะมีขึ้นในราวเดือนส.ค.นี้ และประเมินว่าจะใช้เงินซื้อหุ้นทั้งหมดราว 1.89 แสนล้านบาท มาจากกระแสเงินสดของบริษัท 10% และกู้สถาบันการเงิน 5-6 แห่ง รวม 90% คือ ไทยพาณิชย์, เอชเอสบีซี, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, ยูบีเอส เอจี และซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น โดยไม่เพิ่มทุนจดทะเบียน และไม่มีแผนนำแม็คโครออกจากตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การซื้อกิจการดังกล่าวด้วยมูลค่าสูงถึง 1.89 แสนล้านบาทเป็นการทำลายสถิติการซื้อขายกิจการในเมืองไทยที่ก่อนหน้านี้กลุ่มเทมาเส็กใช้เงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท ซื้อกิจการ กลุ่มบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อต้นปี 2549

 


ซินเนอร์ยีธุรกิจค้าปลีกอาหาร

แหล่งข่าวจากบริษัทซีพี ออลล์ กล่าวเสริมกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธุรกิจในเครือซีพีที่จะได้รับประโยชน์เต็มที่ทำให้ซีพีมีช่องทางจำหน่ายครอบคลุมทั้งค้าปลีกและค้าส่ง คือเซเว่นฯเป็นเอาต์เลตขายปลีก ส่วนแม็คโครเป็นเอาต์เลตขายส่งทำให้มีอำนาจต่อรองสูง เพราะซื้อจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ยังสามารถต่อยอดไปถึงการใช้ระบบจัดซื้อเดียวกัน จึงส่งผลดีต่อเซเว่นฯในแง่ของต้นทุนถูกลง และมาร์จิ้นดีขึ้น ส่วนแม็คโครก็ได้เอาต์เลตหรือช่องทางในการระบายสินค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) มีโรงงานแปรรูปอาหาร ทั้งเป็ด ไก่ หมู กุ้ง และจำหน่ายสินค้าอาหารสด ซึ่งที่ผ่านมาผลิตสินค้าป้อนให้แม็คโครอยู่แล้ว รวมทั้งยังต่อยอดกับหน่วยงานที่ดูแลด้านฟู้ดเซอร์วิส มีค้าปลีกอาหาร อาทิ ซีพี เฟรชมาร์ท, ซีพี เฟรชมาร์ท พลัส (เปลี่ยนชื่อจาก ซีพี ฟู้ด มาร์เก็ต) มีการขายส่งสินค้าอาหาร ล่าสุด ได้เปิดซีพี ฟู้ด เวิลด์ และยังมีหน่วยงานจำหน่ายอาหารสดเข้าไปยังโมเดิร์นเทรด ซึ่งจะเอื้อประโยชน์กันได้ดี โดยเฉพาะแม็คโครที่เน้นขายอาหารสด ก็จะช่วยลดต้นทุนซื้อสินค้าของแม็คโครได้ถูกลง

แหล่งข่าวคร่ำหวอดอยู่ในวงการค้าปลีกแสดงความเห็นว่าส่วนตัวยังมองไม่เห็นเหตุผลแท้จริงในการตัดสินใจซื้อกิจการแม็คโครครั้งนี้หลายคนอาจมองว่าเป็นการกินรวบธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกหรือเพื่อ

ต่อยอดธุรกิจไปต่างประเทศหรือเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ แต่ตนยังไม่แน่ใจนักว่าใช่จริงหรือเปล่า เพราะเซเว่นฯเป็นธุรกิจขายปลีก ขณะที่แม็คโครเป็นธุรกิจขายส่ง ซึ่งเป็นคนละธุรกิจกัน และการเจรจากับซัพพลายเออร์ตามปกติก็จะแยกกันอยู่แล้ว

อีกประการหนึ่งก็คือ ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง โดยธรรมชาติเป็นธุรกิจที่มีกำไรไม่มาก แต่ทำไมเซเว่นฯจึงใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการเข้าซื้อกิจการ แต่ธุรกิจนี้มีข้อดี คือกระแสเงินสดและความเคลื่อนไหวทางตัวเลขบัญชีที่สวยและปริมาณมาก ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อการเอาไปลงทุนต่อยอดในการทำอย่างอื่นต่อไป


ซัพพลายเออร์หวั่นค่าใช้จ่ายพุ่ง

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ระบุว่าการที่เซเว่นฯซื้อกิจการแม็คโครดังกล่าวอาจทำให้เกิดการผูกขาดและส่งผลต่ออำนาจการต่อรองที่เพิ่มสูงขึ้น ผลเสียที่เกิดขึ้นกับซัพพลายเออร์อย่างชัดเจน คือค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่มีการควบรวมกิจการดังกล่าวก็จะทำให้ซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตสินค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งกรณีนี้ซัพพลายเออร์อาจต้องเจอการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากเซเว่นฯเพิ่มขึ้น

ยกตัวอย่าง เดิมค่าธรรมเนียมบางอย่างของเซเว่นฯถูกกว่าแม็คโคร แต่บางอย่างอาจแพงกว่า แต่พอควบรวมกัน เซเว่นฯก็จะเลือกใช้ค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า หรืออะไรที่ของเซเว่นฯต่ำกว่า ก็จะเลือกของแม็คโครมาใช้

ด้านแหล่งข่าวจากวงการซัพพลายเออร์อีกรายกล่าวว่า ที่น่าเห็นใจมากอีกกลุ่มหนึ่งคือ โชห่วย เพราะเดิมเซเว่นฯก็ยึดพื้นที่ของโชห่วยไปมากแล้ว เรียกได้ว่าครอบคลุมทั่วประเทศ และแม็คโครเองก็เป็นช่องทางที่โชห่วยเข้าไปซื้อสินค้ามาขายต่อ ตรงนี้เลยดูเหมือนว่าซีพีจะเหมารวมหรือกินรวบตลาดไปหมด


ย้อนอดีตซีพีกับค้าส่ง-ค้าปลีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เคยถือหุ้นในบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด หรือแม็คโคร ผ่านบริษัท ซีพีเอฟ อินเวสเม้นท์ จำกัด ด้วยสัดส่วนที่มากกว่า 30% และได้เคยเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นแม็คโครในเมืองไทยทั้งหมด แต่การเจรจาไม่บรรลุข้อตกลง เนื่องจากแม็คโครเอเชียต้องการขายทั้งแพ็กเกจ คือขายกิจการแม็คโครในเอเชียทั้งหมด แต่กลุ่มซีพีไม่ต้องการที่จะซื้อกิจการในประเทศอื่น ๆ จากนั้นซีพีก็ได้ทยอยขายหุ้นที่ถืออยู่จนหมด

นอกจากนี้ กลุ่มซีพียังได้เคยลงทุนในธุรกิจค้าปลีกในนามของ "โลตัส" แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อช่วงปี 2540 กลุ่มซีพีและบริษัทในเครือได้ขายหุ้นให้กับ บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด จนหมด และก่อนหน้านี้ กลุ่มซีพีก็เคยมีธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต ในชื่อ "ซันนี่ ซูเปอร์มาร์เก็ต" ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5-6 สาขา แต่ได้ทยอยปิดกิจการไป


หลานสาวเจ้าสัวซีพี "นาตาลี เจียรวนนท์" 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook