อนาคตอันท้าทายที่สุดของ Microsoft

อนาคตอันท้าทายที่สุดของ Microsoft

อนาคตอันท้าทายที่สุดของ Microsoft
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เช้าอันสดใสของวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ลงข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งว่า ได้เกิดเหตุโจรกรรมขึ้นในสำนักงานของ Microsoft ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเมาน์เทนวิว

โดยสิ่งที่หายไปนั้นก็คือ iPad จำนวน 5 เครื่อง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นจำนวนที่มากมายอะไร แต่สิ่งที่เป็นตลกร้ายก็คือ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งถูกขโมย สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตราคาแพงของ Microsoft ที่วางอยู่ในบริเวณเดียวกันกลับไม่ได้รับการแตะต้องใดๆ แม้แต่นิดเดียว 


Microsoft หมดเสน่ห์ขนาดนั้นเลยหรือ?

แน่นอนคงไม่มีใครได้ถามคำถามนี้กับขโมยที่แงะประตูสำนักงานในวันนั้น แต่ต้องยอมรับว่าภูมิทัศน์ของโลกเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงไป ในอดีต Microsoft ได้สร้างชื่อขึ้นในหมู่ผู้บริโภคด้วยระบบปฏิบัติการ Windows และชุดโปรแกรมสำนักงาน Office ซึ่งปัจจุบันก็ยังครองส่วนแบ่งตลาดก้อนใหญ่ไว้ได้ ทว่าในปัจจุบันการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดอุปกรณ์พกพาได้ทำให้ยักษ์ใหญ่รายนี้ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หลายประการเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นแบรนด์หลักของโลกไอทีที่ผู้บริโภคยังให้ความไว้วางใจว่าจะสามารถทำให้พวกเขานำศักยภาพในตัวออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังเช่นสโลแกนที่บริษัทซึ่งใช้มาอย่างยาวนาน

และนั่นคือเหตุผลหลักที่ทำให้ในปี 2555 ที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างใน Microsoft ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบโลโก้ใหม่ให้ดูโมเดิร์นและเรียบง่ายขึ้น สอดรับเข้ากันดีกับอินเทอร์เฟซของ Windows 8 ที่ได้ตัดปุ่ม Start อันเก่าแก่ทิ้งไปและได้รับการแทนที่ด้วยหน้าจอเริ่มต้นสีสันสดใสที่แสดงข้อมูลอัพเดตได้ในแบบเรียลไทม์ นอกจากนั้นยังได้มีการเปิดตัวแท็บเล็ต Surface ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่ามันคือคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของ Microsoft นับตั้งแต่เปิดตัวบริษัทมาหลายสิบปี และก็ต้องไม่ลืม Windows Phone 8 ระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนที่มีความโดดเด่นในตัว รวมทั้งบริการเสริมและซอฟต์แวร์อื่นอีกมากที่เตรียมพร้อมหลอมรวมประสบการณ์ใช้งานให้เป็นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอีเมล Outlook.com บริการเก็บพื้นที่ Skydrive และซอฟต์แวร์ Office 2013 เป็นต้น


Windows 8 รุ่งหรือร่วง?

Steve Ballmer ได้เคยกล่าวไว้ว่า Windows 8 คือการพนันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Microsoft แน่นอนว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวมีเค้าความจริงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากอินเทอร์เฟซใหม่ต้องการการเรียนรู้จากผู้ใช้สักระยะ ซึ่งนี่คือประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลให้ยอดขายของระบบปฏิบัติการน้องใหม่ตัวนี้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม Ballmer ได้ออกมาแก้ข้อกล่าวหานี้เป็นที่เรียบร้อย โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Technology Review เมื่อเร็วๆ นี้ว่า Windows 8 มียอดจำหน่ายถึง 60 ล้านชุดภายในระยะเวลาเพียง 10 สัปดาห์นับจากที่วางจำหน่ายเป็นครั้งแรก

แน่นอนว่าตัวเลขดังกล่าวน่าประทับใจเป็นอย่างมาก แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะว่า Microsoft ได้ยื่นข้อเสนอเป็นส่วนลดพิเศษให้กับผู้ที่ซื้อ Windows 8 ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ตัวเลขยอดขายที่สูงก็ไม่ได้หมายความว่าตัวระบบปฏิบัติการจะได้รับความนิยมในระยะยาว

ที่ผ่านมามีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์หลายรายออกมาแสดงความเห็นว่า ความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อคอมพิวเตอร์ Windows 8 นั้นต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยรายงานจาก NPD ให้ข้อมูลว่า ยอดขายพีซี Windows ในตลาดสหรัฐอเมริกาช่วงเทศกาลวันหยุดที่ผ่านมานั้นลดลงถึงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สอดคล้องกับรายงานของ Gartner ที่ระบุว่ายอดจัดส่งพีซีทั่วโลกเมื่อไตรมาสสี่ของปีที่แล้วนั้นลงลงกว่าร้อยละ 4.3

แน่นอนว่า Windows 8 อาจไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อพีซีน้อยลง เนื่องจากแนวโน้มของอุปกรณ์พกพากำลังมาแรง จึงหันไปซื้อแท็บเล็ตมากขึ้นแทนที่จะซื้อพีซีดังเช่นเมื่อก่อน ซ้ำร้ายแท็บเล็ต Surface เองก็เป็นน้องใหม ยังไม่มีที่ทางและชื่อเสียงพอที่จะต่อกรกับ iPad หรือแท็บเล็ตราคาประหยัดอย่าง Kindle Fire หรือ Google Nexus ได้เลย

นอกจากนั้น ก็ยังดูเหมือนว่าจุดแข็งของ Windows 8 ที่ได้รับการออกแบบมาให้ใช้กับหน้าจอระบบสัมผัสได้นั้นก็กลับกลายมาเป็นมีดคอยทิ่มแทง Microsoft เสียเอง เพราะเป็นที่ทราบกันว่าโน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปที่มีจอสัมผัสนั้นมีราคาแพงกว่ารุ่นธรรมดาทั่วไปมาก โดยขณะที่ขั้วตรงข้ามอย่างแท็บเล็ตจะมีราคาขายอยู่ที่ราวหมื่นกว่าบาท แต่โน้ตบุ๊กจอสัมผัสประสิทธิภาพดีๆ นั้นอาจมีราคาเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวเลยทีเดียว

อีกทั้งโดยส่วนตัวมีความเห็นว่าโน้ตบุ๊กจอสัมผัสคือลูกเล่นเสริมที่ไม่จำเป็น โดยปกติก็ไม่ชอบให้ใครนำมือมาสัมผัสหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่แล้วเพราะจะก่อให้เกิดรอยนิ้วมือหน้าเกลียด ส่วนการยื่นมือไปสัมผัสหน้าจอนานๆ ขณะกำลังนั่งทำงานนั้นยังก่อให้เกิดอาการเกร็งแขนและเมื่อยล้าได้ง่ายอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้บรรดาผู้ผลิตหยุดคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถดึงคุณสมบัติของ Windows 8 มาใช้ได้อย่างเต็มที่ และบางชิ้นก็ทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจมากเสียด้วย อาทิ Lenovo IdeaPad Yoga 13 ที่สามารถหมุนจอได้รอบ 360 องศา Samsung ATIV Smart PC โน้ตบุ๊กที่สามารถถอดจอออกมาเป็นแท็บเล็ตและใช้งานร่วมกับปากกาได้ รวมทั้ง Acer Aspire S7 สุดยอดอัลตร้าบุ๊กที่มีประสิทธิภาพน่าประทับใจ น่าเสียดายที่อุปกรณ์เหล่านี้ยังมีราคาขายค่อนข้างสูง หากสามารถทำราคาขายให้ต่ำกว่านี้ก็อาจจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาสนใจมากขึ้นก็เป็นได้

แม้ว่า Windows 8 ออกมาในช่วงนี้ตลาดพีซีกำลังอยู่ในขาลง แต่ Ballmer ก็ยังยืนยันว่า Windows คือหัวใจและจิตวิญญาณของ Microsoft แน่นอนว่า Windows 8 อาจนับได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่นับตั้งแต่ Windows 98 ไปเป็น XP (ซึ่งผ่านมากว่า 10 ปี แล้วก็ยังมีคนใช้กันอยู่!) และในปีนี้ก็คาดว่าหัวใจโตๆ ดวงนี้คงเต้นแรงขึ้นอีกหลายเท่าเพราะช่วงที่ผ่านมามีข่าวหนาหูว่าทางบริษัทกำลังซุ่มทำ Windows Blue อัพเดตใหม่สำหรับระบบปฏิบัติการ Windows 8 ทั้งตระกูลที่จะเป็นมากกว่า Service Pack ธรรมดา เพราะจะมีการเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่มากมาย อาทิ การปรับแต่งไทล์บนหน้าจอเริ่มต้นที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งมีชุด SDK ใหม่สำหรับผู้พัฒนาให้สร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นได้มากกว่าเดิม

Surface กับโฉมหน้าอันยุ่งเหยิง

Windows 8 ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เดียวที่ Microsoft วางตลาดเมื่อปีที่แล้ว เพราะแท็บเล็ต Surface ยังได้ฤกษ์วางจำหน่ายปีเดียวกันอีกด้วย โดยแบ่งออกเป็นสองรุ่นด้วยกันคือ Surface RT และ Surface Pro (ซึ่งเพิ่งวางจำหน่ายในปีนี้) ถึงแม้จะใช้ชื่อคล้ายกันแต่ความสามารถของแท็บเล็ตทั้งสองกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Surface RT ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows RT ซึ่งได้รับการออกแบบมาให้ใช้กับโปรเซสเซอร์ ARM เช่นเดียวกับที่มีอยู่บนอุปกรณ์พกพาทั่วไป ส่งผลให้แท็บเล็ตตัวนี้จะมีขนาดกับน้ำหนักที่เอื้อต่อการพกพามากกว่า และใช้งานต่อการชาร์จหนึ่งครั้งได้นานกว่า แต่ก็มีจุดด้อยคือไม่สามารถติดตั้งโปรแกรมเดิมๆ ที่ใช้งานร่วมกับ Windows เวอร์ชั่นเก่าได้ ต้องดาวน์โหลดมาจากร้านค้าออนไลน์ Windows Store เท่านั้น ส่วน Surface Pro จะตรงกันข้าม เพราะใช้ Windows 8 เช่นเดียวกันพีซีทั่วไปและมาพร้อมกับโปรเซสเซอร์ Intel Core i5 จึงสามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมของ Windows เวอร์ชั่นเก่าและแอพพลิเคชั่นจากร้านค้าออนไลน์ได้ ทำให้ดูเหมือนเป็นโน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่ง แต่ก็มีข้อเสียคือขนาดกับน้ำหนักที่มากกว่า รวมทั้งการใช้งานต่อการชาร์จหนึ่งครั้งที่น้อยกว่า

เมื่ออ่านดูอาจจะพอเข้าใจ แต่สำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารวงการไอทีมากนักอาจเกิดความสับสนได้ง่ายๆ เพราะนอกจากจะมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกันแล้ว การที่มีชื่อของ Windows แปะอยู่ก็เหมือนกับเป็นการสร้างความคาดหวังว่าอุปกรณ์ตัวนี้ต้องสามารถใช้งานร่วมกับโปรแกรมเก่าๆ ได้เหมือนกัน แน่นอนว่าเมื่อความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นผู้ซื้อก็ย่อมต้องเกิดความสงสัยและไม่มั่นใจ จึงอาจทำให้หันไปพิจารณาอุปกรณ์จากคู่แข่งอย่าง Apple กับ Google ที่มีระบบปฏิบัติการสองชิ้นแยกจากกันอย่างเด็ดขาด โดยตัวหนึ่งเป็นของเดสก์ท็อป (OS X สำหรับ Apple และ Chrome OS สำหรับ Google) ส่วนอีกตัวหนึ่งก็เป็นของอุปกรณ์พกพา (iOS สำหรับ Apple และ Android สำหรับ Google) แต่ Microsoft กลับมีถึงสาม นั่นคือ Windows 8 สำหรับเดสก์ท็อปและ Surface Pro (รวมทั้งแท็บเล็ตอื่นที่ใช้โปรเซสเซอร์ชนิด x86) Windows RT สำหรับ Surface RT (รวมทั้งแท็บเล็ตอื่นที่ใช้โปรเซสเซอร์ ARM) และ Windows Phone 8 สำหรับสมาร์ทโฟน การที่ Microsoft ไม่สามารถเลือกได้ระหว่าง Windows 8 กับ Windows Phone 8 แต่กลับจับมาผสมพันธ์ออกมาเป็นไฮบริด Windows RT นั้นอาจสร้างความซับซ้อนและสับสนในการเลือกซื้อ อีกทั้งในขณะนี้ Microsoft ยังมีช่องทางการวางจำหน่าย Surface ค่อนข้างน้อยและยังไม่โกอินเตอร์เท่าที่ควร นับเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับตลาดที่กำลังโตวันโตคืน

แน่นอนว่า Microsoft ยังไม่ยอมหยุดอยู่แค่นั้น เพราะอัพเดต Windows Blue ที่กำลังจะออกมาก็มีข่าวว่าจะอนุญาตให้ผู้ผลิตสร้างแท็บเล็ตที่มีขนาดเล็กกว่าสิบนิ้วได้ ทำให้แพลตฟอร์มนี้สามารถต่อกรกับ Google Nexus และ iPad Mini ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อมากขึ้น รวมทั้งยังอาจมีหน้าจออินเทอร์เฟซใหม่ที่มอบความยืดหยุ่นให้กับผู้ใช้เช่นเดียวกับเวอร์ชั่นบนเดสก์ท็อปอีกด้วย

Windows Phone 8 ขอเพียงได้โอกาสสักครั้ง

น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Windows Phone 8 ได้รับการพัฒนาจากรุ่นที่แล้วเป็นอย่างมาก ทั้งตัวของระบบปฏิบัติการเองและฮาร์ดแวร์ที่รองรับ จึงทำให้เป็นระบบปฏิบัติการเบอร์สามที่น่าจับตามองที่สุดจนกว่าสมาร์ทโฟน BlackBerry 10 จะวางจำหน่าย แม้ว่าจะยังอีกนานกว่าที่จะสามารถช่วงชิงความเป็นผู้นำมาจาก Android หรือ iOS ได้ แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มที่ผ่านมาก็นับว่ามีอนาคตที่สดใสมากเลยทีเดียว

ปัจจุบัน Nokia ยังคงเป็นผู้ผลักดันหลักให้ Windows Phone แจ้งเกิดในตลาดเนื่องจากพัฒนาฮาร์ดแวร์ออกมารองรับอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟน Lumia ในตลาดแล้วกว่า 10 รุ่น ในแทบทุกระดับราคา แต่รุ่นอันเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดก็คือ Lumia 920 โมเดลเรือธงที่ออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วและมีส่วนช่วยให้ Lumia สามารถทำยอดขายได้ถึงราว 4 ล้านเครื่องในไตรมาสล่าสุด ถึงแม้ Lumia 920 จะมีความสามารถน่าประทับใจมากเท่าใด แต่ข้อมูลจาก AdDuplex ระบุว่า Lumia รุ่นระดับกลางอย่าง 710, 800 และ 610 คือรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตามข้อมูลที่ได้มีการรวบรวมเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ภายในงาน Mobile World Congress 2013 Nokia ยังได้เปิดตัวรุ่น 520 และ 720 ที่มีราคาขายต่ำลงไปอีก นับเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่จะนำพา Windows Phone ไปสู่เป้าหมายด้านส่วนแบ่งตลาดที่จะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งรายรับของ Nokia ที่จะสูงขึ้นด้วย

แน่นอนว่าจุดด้อยของแพลตฟอร์ม Windows Phone ก็คือ การขาดเกมและแอพพลิเคชั่นฟอร์มยักษ์ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งปัญหาไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้กันง่ายๆ เพราะผู้บริโภคก็คงไม่ลงทุนกับแพลตฟอร์มที่ทำอะไรไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ขณะที่ผู้พัฒนาเองก็ไม่ยอมเสียเวลาสร้างแอพพลิเคชั่นให้กับแพลตฟอร์มที่เป็นเสมือนเมืองร้าง ทางแก้ไขคือ เจ้าของต้องแสดงให้เห็นว่าแพลตฟอร์มของตนคุ้มค่ากับทรัพยากรที่จะเสียไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ Nokia ได้พัฒนา #2InstaWithLove แอพพลิเคชั่นที่มีความสามารถคล้ายกับ Instagram ให้กับสมาร์ทโฟน Lumia เพื่อเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้ใช้ Windows Phone ก็ต้องการให้ Instagram พัฒนาแอพฯ ให้ด้วยเช่นกัน

สรุป
คงไม่มีช่วงเวลาใดอีกแล้วที่ Microsoft จะประสบกับความท้าทายเช่นนี้ เพราะนอกจากยอดขายในตลาดพีซีที่เคยเป็นจุดแข็งของตนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่นับวันจะโตวันโตคืน อีกทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมาก็ยังไม่สามารถเรียกเสียงฮือฮาได้เหมือนเมื่อก่อน แต่อย่างน้อยบริษัทก็มีทิศทางอันแน่นอน ประกอบกับชื่อเสียงและประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ก็ทำให้ยิ่งน่าติดตามต่อไปครับว่าในปีนี้ Microsoft จะสร้างความประหลาดใจใดๆ อีกหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook