เมื่อเป็นหนี้ ควรทำอย่างไรบ้าง

เมื่อเป็นหนี้ ควรทำอย่างไรบ้าง

เมื่อเป็นหนี้ ควรทำอย่างไรบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเริ่มเป็นหนี้ สำหรับคนที่มองโลกในแง่ดีนั้น จะคิดถึงข้อดีตรงที่เงินที่ได้หยิบยืมมานั้น สามารถช่วยให้เรามีเงินในกระเป๋าไว้จับจ่ายยามฉุกเฉินได้

แต่อย่าลืมว่าข้อเสียของการก่อหนี้ก็คือ ยอดเงินผ่อนชำระรายเดือนที่เราต้องทยอยคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ย (จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่หนี้แต่ละประเภท)

ทั้งนี้ ก่อนการก่อหนี้ทุกครั้ง ควรพิจารณาด้วยว่าหนี้ที่ก่อขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่เป็นหนี้เพราะความอยากได้หรือความฟุ่มเฟือย เพราะหลังจากใช้เงินหมดแล้ว คงต้องใส่ใจกับการหาเงินมาคืนเจ้าหนี้ และชำระหนี้ให้เร็วที่สุดเพราะดอกเบี้ยไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์เหมือนเวลาทำงาน แต่จะเดินทุกๆ วันตราบใดที่ยังเป็นหนี้อยู่

การเป็นหนี้นั้น ควรใส่ใจกับความสามารถในการผ่อนชำระคืนด้วยว่าสามารถผ่อนเงินคืนได้ตามเงื่อนไขหรือไม่ เพราะถ้าเกิดมีการค้างชำระ อาจส่งผลเสียต่อข้อมูลเครดิตของตัวเราเองในการขอกู้เงินครั้งต่อไป ดังนั้น ถ้าไม่อยากเสียเครดิต ก็ควรใส่ใจกับการวางแผนการใช้จ่ายเงินและแผนผ่อนชำระให้ดีก่อน

โดยหลักการเป็นหนี้ หากเลือกได้เราก็คงจะสร้างแต่สิ่งที่เรียกว่าเป็น "หนี้ดี" เท่านั้น แล้วหนี้ดีนั้นเป็นอย่างไร "หนี้ดี" หมายถึง การเป็นหนี้ จะต้องทำให้เรามั่งคั่งขึ้น กล่าวคือมีรายได้ หรือ ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และที่สำคัญต้องไม่กระทบต่อสภาพคล่องในการดำรงชีวิตประจำวัน หากตกเรื่องความมั่งคั่ง หรือสภาพคล่องข้อใดข้อหนึ่งไป จะถือว่าหนี้นั้นเป็น "หนี้ไม่ดี" ทันที

ในบางครั้งหนี้ที่เรามีอยู่นั้นอาจไม่ได้เป็นหนี้ระยะสั้นเสมอไป หากเรามีความต้องการที่จะมีบ้านสักหลัง คงมีคนเป็นส่วนน้อยที่จะเก็บเงินให้ครบก่อนแล้วค่อยไปซื้อบ้าน

ดังนั้น การเป็นหนี้ในบางครั้งก็ไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น หนี้สินทางการเงินที่ดีอย่างเช่นการเป็นหนี้เพื่อซื้อบ้านนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรมี เพราะอย่างน้อยบ้านก็เป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

แถมยังเป็นการกู้ที่เสียดอกเบี้ยต่ำที่สุดในระบบการเงินอีกด้วย ดังนั้น หากเรามีความจำเป็นที่จะเป็นหนี้จริงๆ แล้ว ควรที่จะต้องเรียนรู้และใส่ใจเรื่องของการเป็นหนี้ให้ลึกซึ้ง

หลังจากนั้น ค่อยหาวิธีการจัดการอย่างเป็นระบบกับหนี้สินที่เราได้สร้างขึ้นมา และที่สำคัญคือ จะต้องไม่กระทบต่อสภาพคล่องในการดำรงชีวิตประจำวัน

 

ขอบคุณข้อมูล K-Expert

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook