ธนวรรธน์ชี้ ไทยเกิดตุ้มยำกุ้งรอบ 2 ได้ยาก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นถึงกรณี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความวิตกความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณีการลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็ง พร้อมทั้งชี้ว่า หากยังไม่มีการลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ ว่า โดยส่วนตัวมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทย ณ เวลานี้แตกต่างจากเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 เพราะเมื่อปี พ.ศ.2540 นั้น หนี้เอกชนสูงถึงกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้น ที่กู้มาจากต่างประเทศ เกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังถูกโจมตีค่าเงินและทาง ธปท.ในขณะนั้น ได้มีการนำเงินทุนสำรองไปต่อสู้การเก็งกำไรจนไม่เหลือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้น ธปท.ในเวลานั้น ยังยึดระบบการตรึงค่าเงินบาทเอาไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเปรียบไปก็เหมือนไม่มีระบบเซฟทีคัท เมื่อถูกไฟฟ้าดูดจึงตายทันทีแต่ ณ เวลานี้ ประเทศไทยเรามีเหมือนระบบเซฟทีคัท คือ หากเมื่อใดก็ตามที่บาทแข็งค่ามากเกินไป ธุรกิจจะย่อลง และท้ายที่สุด คือ ต่างชาติจะไม่เข้ามาลงทุน จนทำให้หุ้นทยอยตกลง เงินไหลเข้าจะน้อยลง จนทำให้ค่าบาทอ่อน และส่งออกจะกลับมาทำงานได้ และวิ่งไปหาค่าบาทที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเองก็ปรับตัวไปเยอะ หนี้เอกชนไม่ได้สูง และที่สำคัญหนี้ระยะสั้น มีประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มีเงินทุนสำรองมากถึง 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าเป็นไปได้ยาก ที่จะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ขึ้นได้ และหากมีผู้ใดทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ซ้ำรอยปี พ.ศ.2540 ได้อีก ต้องถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงอย่างมาก