“ดร.สาธิต วิทยากร” กับ “CSV” ธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ได้ใจคนในสังคม

“ดร.สาธิต วิทยากร” กับ “CSV” ธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ได้ใจคนในสังคม

“ดร.สาธิต วิทยากร” กับ “CSV” ธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ได้ใจคนในสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในปัจจุบันนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก Corporate Social Responsibility (CSR) หรือการดำเนินการที่สะท้อนบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่าง ๆ แต่หลายครั้ง การทำ CSR ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม หรือส่งต่อความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มคนที่ต้องการอย่างแท้จริง และคงไม่เป็นผลดีกับองค์กรเท่าไรนัก นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Creating Share Value (CSV) หรือการสร้างสรรค์คุณค่าธุรกิจสู่สังคม ซึ่งกลุ่มโรงพยาบาลและธุรกิจเพื่อสุขภาพ ของบริษัทพริ๊นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งสังคมและธุรกิจ

Sanook ได้รับโอกาสให้เข้าไปพูดคุยกับ  ดร. สาธิต วิทยากร กรรมการบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจเพื่อสุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ถึงวิธีการทำธุรกิจที่รับใช้สังคม ขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน 

สามสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ

แม้โรงพยาบาลภายใต้บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จะทำโครงการ CSR อยู่เสมอ ทั้งการปลูกป่า บริจาคสิ่งของ หรือการปรับปรุงโรงเรียน แต่ ดร.สาธิต ก็มองว่า การทำธุรกิจที่เน้นประโยชน์ของทุกฝ่ายน่าจะตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคนี้มากที่สุด จึงนำวิธีการแบบ CSV เข้ามาใช้ในการทำงานของปี 2563 ซึ่งประกอบไปด้วย ความต้องการในชุมชน, ความชำนาญของธุรกิจ และโอกาสในการทำธุรกิจ

“เมื่อเอาสามข้อมาร้อยเข้าด้วยกัน มันเป็นทั้งความต้องการของชุมชน สิ่งที่เราทำได้ และสามารถสร้างธุรกิจได้ด้วย มันก็จะทำให้โจทย์ตรงนี้มีความยั่งยืนและสามารถทำได้ตลอดไป ทุกคนได้ประโยชน์เหมือนกันนั่นเอง” ดร.สาธิต กล่าว

แนวคิดหลักของการทำ CSV ของโรงพยาบาล คือการนำทีมแพทย์และพยาบาลลงพื้นที่ชุมชน ไปเยี่ยมประชาชนตามบ้าน และสอบถามความต้องการที่แท้จริงของชุมชน ซึ่งตรงส่วนนี้จะนำไปสู่การสร้าง “คุณค่าร่วมกัน” คือชุมชนได้รับการดูแล และเลือกที่จะมาใช้สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิ์บัตรทองกับทางโรงพยาบาล 

คืนงานให้ชุมชน

เราพยายามจ้างงานคนในท้องถิ่นให้มากขึ้น เช่น หลายคนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพก็อยากจะกลับบ้าน การขยายโรงพยาบาลไปในต่างจังหวัด ก็เหมือนเป็นการเอาคนกลับบ้านเกิด และเขาก็สามารถทำงานและดูแลครอบครัวของตัวเองได้ เช่นเดียวกับการจัดซื้อสินค้าที่นำมาใช้ในโรงพยาบาล เราก็พยายามใช้สินค้าท้องถิ่น เมื่อเราเป็นโรงพยาบาลเอกชน เราก็ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม” ดร.สาธิตอธิบาย

เมื่อมีจุดประสงค์ที่จะทำงานร่วมกับชุมชน สิ่งสำคัญคือการทำความรู้จักพื้นที่เหล่านั้นให้มากขึ้น ดร.สาธิต เล่าว่า วิธีการทำงานของโรงพยาบาล จึงเป็นการเลือกผู้บริหารที่อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ เช่นเดียวกับการลงพื้นที่ชุมชน ที่ต้องเข้าหาผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชน เพื่อเรียนรู้ความต้องการของชุมชนนั้น ๆ

“เราเข้าไปหาหัวหน้าชุมชน ไปพูดคุยกับเขา เวลาเราไปเยี่ยมตามบ้าน เขาก็ตามไปด้วย ซึ่งเขาจะทราบว่าบ้านนี้มีคนไข้ติดเตียง หรือบ้านนี้เป็นอย่างไร และความตั้งใจของเราไม่ใช่การเข้าไปรักษาคนกลุ่มนั้นทั้งหมด แต่เราเข้าไปแนะนำตัวให้พวกเขาได้รู้จักเรา คราวนี้เขาก็จะรู้จักเราจากการทำงานนั่นเอง

สนุกแต่ใช้เวลา

การทำธุรกิจแบบ CSV คือการสร้างประโยชน์ให้กับผู้ทำธุรกิจและชุมชนอย่างยั่งยืน แบบ “ถ้อยทีถ้อยอาศัย” ที่ไม่เพียงองค์กรจะสามารถดำเนินการอยู่ได้ แต่สังคมก็จะได้รับประโยชน์จากรูปแบบการทำธุรกิจเช่นนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ดร.สาธิตก็ระบุว่า แม้จะเริ่มทำโครงการนี้ได้ไม่นาน และต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดผ่านพ้นไปแล้ว โรงพยาบาลจะเพิ่มดีกรีของโครงการดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน ไม่เพียงเท่านั้น โครงการนี้ยังได้กลุ่ม “สาธารณะ” ที่เป็นต้นแบบของการทำธุรกิจเพื่อสังคม มาร่วมคิด ออกแบบ และวางกลยุทธ์การทำงานต่อไป

บริษัท พริ๊นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ไปบ้างแล้วในบางจังหวัด เช่น จังหวัดลำพูน และที่โรงพยาบาลพริ๊นซ์ สุวรรณภูมิ เป็นต้น ทั้งนี้ ดร.สาธิตก็ได้ย้ำว่า แม้จะเป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มทำ แต่จะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน ถึงแม้จะใช้เวลามากกว่าการทำธุรกิจในรูปแบบอื่น ๆ แต่เขาก็เชื่อว่า ผลลัพธ์ของโครงการดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจและสังคมสามารถก้าวไปข้าวหน้าได้พร้อมกันอย่างยั่งยืน

ในการตลาดแบบ CSV ผมว่ามันสนุกกว่ากันเยอะ มันอาจจะช้า แต่มันเข้าไปถึงใจของเขาได้มากกว่า” ดร.สาธิตกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook