เวนคืน 7,700 ไร่ ผุดรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ เปิดโพย 7 สถานีเฟสแรก "กทม.-พิษณุโลก"
เคาะแล้วแนวเส้นทางไฮสปีดเทรนสายเหนือ "กทม.-เชียงใหม่" ระยะทางสั้นลงจาก 715 ก.ม.เหลือ 669 กม. เงินลงทุนกว่า 4 แสนล้าน
เฟสแรก "กทม.-พิษณุโลก" 382 กม. ลงทุนเฉียด 2 แสนล้าน สร้างบนเขตทางรถไฟเดิม เฟสต่อขยาย "พิษณุโลก-เชียงใหม่" ตัดแนวใหม่เข้า "สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-ลำปาง-ลำพูน-เชียงใหม่" มี 12 สถานี
เปิดโผที่ตั้ง 7 สถานีนำร่อง ค่าตั๋วเริ่มต้น 800-1,900 บาท/เที่ยว เริ่มสร้างกลางปี 2557 เปิดใช้ปลายปี 2562เคาะแนว "กทม.-เชียงใหม่" 669 กม.
แนวเส้นทางภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะสรุปชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางไหน หลังกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยบริษัททีม คอนซัลติ้งฯได้ศึกษา
และมี 5 เส้นทางเลือกให้พิจารณา ประกอบด้วย แนวที่ 1 ใช้แนวเขตทางรถไฟเดิมเป็นหลัก เริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ ผ่าน จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน สิ้นสุดที่ จ.เชียงใหม่ รวมระยะทาง 677 กม.
แนวที่ 2 ขนานไปตามแนวรถไฟเดิมเหมือนแนวที่ 1 จนมาถึง จ.พระนครศรีอยุธยา จะตัดเส้นทางใหม่ไปทางฝั่งตะวันตก บรรจบแนวรถไฟสายเดิมที่ อ.พยุหะคีรี แล้วเข้าสู่ จ.นครสวรรค์ จนถึงสถานีปากน้ำโพ โดยจะเป็นเส้นทางใหม่ไปถึง อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ตัดเข้าแนวรถไฟเดิมจนไปถึง อ.เมืองพิษณุโลก จากนั้นจะตัดเส้นทางใหม่ไปด้านทิศตะวันตก ตัดเข้า อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บรรจบกับแนวรถไฟสายเดิมที่ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ผ่าน จ.ลำพูน สิ้นสุดที่ จ.เชียงใหม่ รวมระยะทาง 639 กม.
แนวที่ 3 ใช้แนวเดียวกับทางเลือกที่ 2 จนมาถึง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ จะตัดแนวใหม่ออกไปทางด้านทิศตะวันตกของ จ.นครสวรรค์ ผ่าน อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร แล้วมาบรรจบกับแนวที่ 2 ที่ อ.เมือง จ.สุโขทัย ระยะทางรวม 610 กม.
แนวที่ 4 ขนานไปกับแนวเดิมจนถึงถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก จากนั้นจะเบี่ยงแนวไปทางทิศตะวันตกของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ผ่าน จ.อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ แล้วตัดขึ้นเหนือไปเข้า จ.สุโขทัย เบี่ยงเส้นทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดเข้า อ.สบปราบ อ.เสริมงาม จ.ลำปาง พาดผ่าน จ.ลำพูน มาสิ้นสุดที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ รวมระยะทาง 597 กม.
ตัดแนวใหม่ "ศรีสัชนาลัย"
และแนวที่ 5 เป็นแนวเส้นทางที่ 1 และ 2 มาผสมผสานกัน โดยช่วงบางซื่อ-พิษณุโลกใช้แบบเดียวกับแนวที่ 1 คือขนานไปกับแนวรถไฟเดิม ช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ใช้แนวเดียวกันทางเลือกที่ 2 เมื่อผ่าน จ.พิษณุโลกแล้ว จะตัดแนวใหม่ไปทางทิศตะวันตก มุ่งไป อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย บรรจบกับแนวรถไฟเดิมที่ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ผ่าน จ.ลำพูน และสิ้นสุดที่ จ.เชียงใหม่ ระยะทางรวม 669 กม.
มี 12 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ มีพื้นที่เวนคืน 2,700 แปลง 7,724 ไร่ เงินลงทุน 431,393 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 10,814 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 420,579 ล้านบาท
"พิจารณาแล้วแนวที่ 5 มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะยังใช้แนวเดิมในเฟสแรกจากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะทำให้ก่อสร้างได้เร็ว ส่วนต่อขยายจากพิษณุโลก-เชียงใหม่ เลือกตัดแนวใหม่เข้าไปยัง จ.สุโขทัย เพราะอยากเปิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ และ อ.ศรีสัชนาลัย เป็นเมืองมรดกโลกจะหนุนการท่องเที่ยวได้ด้วย"
เปิดโผ 7 สถานีเฟสแรก
สำหรับตำแหน่งสถานีในเฟสแรก (กทม.-พิษณุโลก) 382 กม.นั้น นายจุฬากล่าวว่า ทางบริษัทที่ปรึกษากำหนดจุดที่ตั้งไว้แล้ว มีทั้งหมด 7 สถานี ห่างกันประมาณ 60-70 ก.ม./สถานี มีทั้งใช้สถานีเดิมและกำหนดจุดที่ตั้งใหม่ คือ
1.สถานีกลางบางซื่อ โดยรถไฟความเร็วสูงจะอยู่บริเวณชั้น 3 ของสถานี
2.สถานีดอนเมือง อยู่บริเวณสถานีรถไฟเดิม
3.สถานีอยุธยา มี 2 ทางเลือกคือ อยู่ที่เดิม และอยู่สถานีบ้านม้า ห่างจากสถานีเดิม 1-2 กม. เพราะมีที่ดินของการรถไฟฯว่างอยู่โดยรอบสถานีประมาณ 60 ไร่ สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้เต็มที่
4.สถานีลพบุรี อยู่ที่เดิม แต่จะเจาะอุโมงค์ลอดใต้ดินสำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูง
5.สถานีนครสวรรค์ มี 2 ทางเลือกคือ อยู่ที่เดิมสถานีรถไฟนครสวรรค์ หรือที่สถานีปากน้ำโพ ห่างออกไป 4-5 กม. เพราะมีที่ว่างอยู่รอบสถานีประมาณ 100 ไร่
6.สถานีพิจิตร จะสร้างใหม่อยู่ห่างจากสถานีเดิมไปทางด้านขวาประมาณ 1 กม. และ 7.สถานีพิษณุโลก มี 2 ทางเลือกคือ อยู่ที่เดิม หรือสร้างใหม่ออกมาทางกองบิน 46 ใกล้กับสนามบิน ห่างจากสถานีเดิม 4-5 กม. โดยจะขอใช้ที่ดินทหารที่มีอยู่ประมาณ 100 ไร่
ตั้งเป้ากลางปี"57 เริ่มสร้าง
"ส่วนต่อขยายจากพิษณุโลก-เชียงใหม่ ยังเป็นแนวเบื้องต้น ยังไม่กำหนดจุดที่ตั้งสถานีชัดเจน หลังจากนี้จะลงพื้นที่สำรวจจริงอีกครั้ง ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้างหลังเฟสแรกประมาณ 1 ปี"
นายจุฬากล่าวตอนท้ายว่า สำหรับเฟสแรกมีแผนจะเริ่มก่อสร้างกลางปี 2557 แล้วเสร็จพร้อมตั้งเป้าเปิดบริการปลายปี 2562 วิ่งด้วยความเร็ว 250-300 กม./ชั่วโมง คาดว่ามีผู้โดยสารประมาณ 16,600 เที่ยวคน/วัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 42 นาที
อัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 2.50 บาท/กม. แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ชั้นวี.ไอ.พี. (3 ที่นั่ง/แถว) ราคา 1,906 บาท/เที่ยว ชั้น 1 (4 ที่นั่ง/แถว) ราคาปกติ 1,237 บาท/เที่ยว ราคาโปรโมชั่น 640 บาท/เที่ยว และชั้น 2 (5 ที่นั่ง/แถว) ราคาปกติ 858 บาท/เที่ยว ราคาโปรโมชั่น 470 บาท/เที่ยว