การบินไทยยังอาการหนัก! ปีที่แล้วขาดทุนอ่วมกว่า 1.4 แสนล้าน เล็งส่งแผนฟื้นฟูภายใน 2 มี.ค.

การบินไทยยังอาการหนัก! ปีที่แล้วขาดทุนอ่วมกว่า 1.4 แสนล้าน เล็งส่งแผนฟื้นฟูภายใน 2 มี.ค.

การบินไทยยังอาการหนัก! ปีที่แล้วขาดทุนอ่วมกว่า 1.4 แสนล้าน เล็งส่งแผนฟื้นฟูภายใน 2 มี.ค.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การบินไทยเผยผลประกอบการประจำปี 2563 พบขาดทุนสุทธิกว่า 1.4 แสนล้านบาท เล็งส่งแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 2 มี.ค.นี้

วันนี้ (25 ก.พ.) นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิในปี 2563 จำนวน 141,180 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 129,163 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 141,171 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 64.68 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 5.51 บาท
โดยมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ถาวร ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตาม TFRS9 กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุน ผลขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (EBITDA) ติดลบจำนวน 11,319 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไรเท่ากับ 9,345 ล้านบาท โดยมี EBITDA Margin เท่ากับ -23.4% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ 5.1%

ในปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 48,311 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 135,735 ล้านบาท หรือ -73.8% สาเหตุสำคัญเนื่องจากทั้งรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 125,772 ล้านบาท (-75.4%) รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 7,554 ล้านบาท (-53.1%) เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีประมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 73.7% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 78.5% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 64.7% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 79.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.87 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 76.1% สำหรับการขนส่งสินค้ามีประมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 74.3% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 72% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 58.6% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยเท่ากับ 53.8%

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 96,430 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 100,040 ล้านบาท (-50.9%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือ ปริมาณการขนส่ง และ/หรือจำนวนผู้โดยสารลดลงจากปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่ง และจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง อยางไรก็ตามค่าใช้จ่ายคงที่อยู่ในระดับสูงทำให้การลดลงของค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 48,119 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35,695 ล้านบาท (287.3%)

ในปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 91,978 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • สำรองเงินชดเชยพนักงานในโครงการร่วมใจจากองค์กร ร Mutual Separation Plan (MSP A) จำนวน 3,098 ล่านบาท
  • ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน จำนวน 82,703 ล้านบาท
  • ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 จำนวน 261 ล้านบาท
  • กำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนใน บมจ. สายการบินนกแอร์ (NOK) จำนวน 206 ล้านบาท
  • ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 895 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชีของหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าดำเนินงานเครื่องบินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16
  • ผลขาดทุนสำหรับการป้องกันความเสี่ยงของกลุ่มรายการของฐานะสุทธิจำนวน 5,227 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายชาย กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายบุคลากร โดยขอความร่วมมือผู้บริหารและพนักงานสมัครใจร่วมโครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน (Together We Can)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “ร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร” 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมใจจากองค์กร Mutual Separation Plan (MSP A) และโครงการลาระยะยาว (LW20) เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้บริษัทสามารถดำรงเงินสดในมือให้เพียงพอในการดำเนินกิจการระหว่างที่ไม่มีกระแสเงินสดรับจากการดำเนินธุรกิจการบินปกติและจากแหล่งเงินทุนอื่น ประกอบกับการชะลอการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการและความปลอดภัย และหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้บริษัทฯ ลดค่าใช้จ่ายคงที่จากปีก่อนได้ถึงประมาณ 15,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีการหารายได้จากการให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้า การจัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยกลับบ้าน และรายได้จากกิจการอื่นๆ อาทิ ฝ่ายครัวการบิน เป็นต้น

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทฯและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 208,791 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 46,017 ล้านบาท (-18.1%) มีหนี้สินรวมจำนวน 337,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 94,414 ล้านบาท (38.1%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีจำนวน -128,665 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 140,431 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่บริษัทฯ เสนอ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงประกาศคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563

ขณะนี้ คณะผู้ทำแผนอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในวันที่ 2 มีนาคม 2564 และเมื่อได้ยื่นส่งแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท และศาลล้มละลายกลางจะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook