ทำความรู้จัก "จดหมายแจ้งเตือน" จากกรมสรรพากร ได้แล้วต้องทำอย่างไรต่อ
กรมสรรพากร เฉลยผู้ที่มีสิทธิได้รับจดหมายแจ้งเตือนมีใครบ้าง พร้อมแนะแนวทางการยื่นภาษีเงินได้อย่างถูกต้อง
ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากร ได้ขยายเวลาการยื่นภาษีทางออนไลน์ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 64 ซึ่งก็มีประชาชนทยอยยื่นภาษีออนไลน์ไปแล้วบ้าง แต่บางคนกลับพบว่าได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากกรมสรรพากร อยากรู้หรือเปล่าจดหมายแจ้งเตือนนั้นคืออะไร มีผลอย่างไร และใครเข้าข่ายที่จะได้รับ Sanook Money มีคำตอบจากกรมสรรพากรมาฝากกัน
คำถาม: จดหมายเตือน คืออะไร?
คำตอบ: จดหมายเตือนมีอีกชื่อหนึ่งว่า "Notification Letter" เป็นจดหมายที่แจ้งให้ผู้ประกอบการรู้ภาระหน้าที่ทางภาษีของตน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนสาระสำคัญในจดหมายเตือน จะระบุถึง
- 1. ข้อมูลแหล่งที่มาของเงินได้ เช่น มีเงินได้จากการประกอบธุรกิจออนไลน์, มีเงินได้จากการประกอบธุรกิจโรงแรม, ที่พักหรือมีเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นต้น
- 2. ภาระหน้าที่ทางภาษี เช่น การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT), ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT), ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- 3. หากต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อทางเบอร์โทรศัพท์ของ TAX Ambassador ที่ระบุไว้ในจดหมาย
- 4. โทษของการไม่ยื่นแบบภายในกำหนดเวลา จะระบุไว้ในจดหมายตรงหมายเหตุ
คำถาม: จดหมายเตือนได้ข้อมูลจากไหน?
คำตอบ: แหล่งที่มาของข้อมูลมี 2 แหล่ง ได้แก่
- 1. แหล่งข้อมูลภายนอก
- 2. แหล่งข้อมูลภายใน (ฐานข้อมูลภายในของกรมสรรพากร)
คำถาม: ใครบ้างที่จะได้รับจดหมายเตือน?
คำตอบ: แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ประกอบการที่มีเงินได้ในปีภาษี 2562 และปีภาษีก่อนหน้า และยังไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการในปีที่มีเงินได้
- กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการที่มีเงินได้ในปีภาษี 2563 และยังไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการในปีภาษี 2563
คำถาม: ถ้าได้รับจดหมายเตือน แต่ปีปัจจุบันไม่มีรายได้แล้วต้องทำอย่างไร?
คำตอบ: เงินได้ที่เกิดขึ้นในปีภาษีใด ผู้ประกอบการก็ต้องนำมาคำนวณและยื่นแบบฯ สำหรับปีภาษีนั้น ถึงแม้ว่าในปีปัจจุบันไม่มีเงินได้จำนวนดังกล่าวแล้วก็ตาม เช่น มีเงินได้ในปีภาษี 2562 และทยังไม่ได้ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด. 90 ในปีภาษี 2562 ขอให้ยื่นแบบฯ ย้อนหลังสำหรับปีภาษี 2562 ให้ถูกต้องครบถ้วน
*TAX Ambassador คือ เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรที่พร้อมดูแลและให้บริการคำปรึกษาด้านภาษี