"ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ" สตาร์บัคส์ "ความสำเร็จไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลข"
การเดินทางมาเปิดตัว "ร้านกาแฟเพื่อชุมชน" แห่งแรกในเอเชีย-แปซิฟิก หรือจะว่าไปแล้วก็ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของ สตาร์บัคส์ ที่สาขาหลังสวน โดยซีอีโอผู้ก่อตั้ง "ฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ"
นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองให้กับการครบรอบ 15 ปีของสxzjตาร์บัคส์ในประเทศไทยแล้ว ยังเพื่อแสดงถึงความสำคัญของธุรกิจกาแฟในประเทศไทย ที่เติบใหญ่และมีศักยภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ไหนในจำนวนกว่า 62 ประเทศทั่วโลก
การเลือกสาขา ณ ซอยหลังสวน เป็นสถานที่เปิดคอนเซ็ปต์ดังกล่าวซึ่งถือเป็นแห่งที่ 4 ของโลก ต่อจาก 3 สาขาแรกตั้งอยู่ที่ลอสแองเจลิส นิวยอร์ก และเท็กซัส ย่อมบ่งบอกถึงความสำคัญของตลาดไทย
ภายใต้สาขากว่า 19,000 แห่งทั่วโลก แบ่งเป็นในไทย 168 สาขา ตลอด 15 ปีของสตาร์บัคส์ ไทยแลนด์ ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตเป็นดับเบิลดิจิตมาโดยตลอด ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จและมนต์เสน่ห์ของยักษ์ใหญ่รายนี้ที่มีต่อผู้บริโภคชาว ไทยได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าในตลาดร้านกาแฟพรีเมี่ยมจะมีคู่แข่งอยู่มากมาย และมีคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาก็ตาม
อย่าง ไรก็ตาม เมื่อถามถึง "ความสำเร็จ" ในมุมมองของ "ชูลท์ซ" เขาชี้ว่า "ความสำเร็จ" นั้นไม่เพียงเฉพาะในด้านของตัวเลข ทั้งจากยอดขายและจำนวนสาขา เพราะหากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัท ตัวเขาเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าร้านกาแฟขนาดเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในเมืองซีแอตเติลเมื่อ 42 ปีที่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปจะกลายมาเป็นบริษัทที่ใหญ่โต แผ่สาขากว้างใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้
เขาเล่าว่าจริง ๆ แล้ว เป้าหมายหรือสิ่งที่เขาตั้งใจมาตั้งแต่ต้นเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ คือการสร้างสตาร์บัคส์ให้เป็นบริษัทที่แตกต่างจากบริษัทอื่นทั่วไป
นั่นหมายถึงการยืนอยู่ในจุดกึ่งกลางระหว่างธุรกิจกับสังคม นั่นคือเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบ
ใน การดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อชุมชน การให้ความสำคัญดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากที่ตัวเขาเองซึ่งไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย และเป็นตัวผลักดันอย่างหนึ่งให้เขาต้องการช่วยเหลือผู้คนและสังคมรอบข้างให้ดีขึ้น
ไม่ แปลกที่เราจะเห็นว่า แบรนด์อย่าง "สตาร์บัคส์" มักมีกิจกรรม แคมเปญเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทยก็มีโครงการกาแฟม่วนใจ๋ ที่แบ่งรายได้ 5% จากการจำหน่ายเมล็ดกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ที่ผลิตขึ้นในประเทศให้แก่ชุมชนผู้ผลิตกาแฟในภาคเหนือ
ขณะที่ ร้านกาแฟเพื่อชุมชนนั้นเป็นการต่อยอดพันธกิจดังกล่าวอย่างเข้มข้นมากขึ้น จากปณิธานของโครงการที่ว่า หากชุมชนได้รับการดูแลให้เติบโตเป็นอย่างดีแล้ว ทุกคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น วันนี้หากใครเข้าไปซื้อกาแฟที่สาขาซอยหลังสวน รายได้ทุก 10 บาทจากการขายสตาร์บัคส์ทุกแก้วจะถูกมอบให้แก่องค์กรพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน หรือไอทีดีพี เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านการศึกษา รวมไปถึงด้านสุขอนามัย และโครงการชลประทานต่าง ๆ
ในแง่ของการทำ ธุรกิจก็เช่นเดียวกัน "ชูลท์ซ" มองว่า วันนี้ตัวแปรของคำว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทหรือเมล็ดกาแฟ เพียงอย่างเดียว
เขาประกาศชัดเจนว่า ความสำเร็จของสตาร์บัคส์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มาจาก "ผู้คน" ทั้งพาร์ตเนอร์ที่ร่วมมือกันขับเคลื่อนบริษัท ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงบาริสต้าที่สามารถสร้างสรรค์สู่มือลูกค้าได้ รวมไปถึงความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคที่มีมาตลอด 42 ปีที่เป็นกำลังใจให้สตาร์บัคส์จะต่อสู้เพื่อชุมชน
ไม่เพียงเท่านั้น "ชูลท์ซ" ยังมองโอกาสจะใช้กาแฟที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายไปยังสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วยในอนาคต ควบคู่ไปกับการหาโอกาสขยับขยายสาขาเพิ่มใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยตั้งเป้าในไทยจะมีสาขามากกว่าเดิม 1 เท่า หรือ 320 สาขาในปี 2561 รับกับโอกาสในตลาดกาแฟพรีเมี่ยม ซึ่งยังมีที่ว่างในการเติบโตได้อีกจำนวนมาก
ขณะเดียวกันก็มีแผนเดิน หน้าขยายธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ โดยมีไทยเป็น "ตัวจักร" สำคัญในการสร้างการเติบโตดังกล่าว
"จาก การที่ผมได้มีโอกาสมาร่วมฉลอง 15 ปีของสตาร์บัคส์ประเทศไทย ผมสัมผัสได้ถึงความรักและความทุ่มเทของพาร์ตเนอร์ (พนักงาน) ของเรา ในการส่งมอบประสบการณ์
สตาร์บัคส์ให้กับลูกค้าของเราในประเทศไทย ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างมากในความสามารถของเราในการสร้างการเติบโตให้กับตลาดแห่งนี้"
แม้ ว่าตัวของ "ชูลท์ซ" เองจะเคยขึ้น ๆ ลง ๆ จากตำแหน่งผู้บริหารของสตาร์บัคส์มาบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ทว่าการมาเยือนไทยในครั้งนี้ ชูลท์ซในวัยย่าง 60 ปีย้ำอย่างหนักแน่นว่า
"ผมยังหนุ่มยังแน่นอยู่ และพร้อมที่จะบริหารสตาร์บัคส์ต่อไปอีกหลายปี และแบรนด์นี้ก็ยังคงสามารถเติบโตต่อไปได้ และเราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้"
ข้อพิสูจน์ของสตาร์บัคส์กับคำพูดดังกล่าวก็คือยอดขายในปีที่แล้วในสหรัฐอเมริกาสามารถทำรายได้สูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางเศรษฐกิจในอเมริกาไม่ค่อยจะสู้ดีนัก
วันนี้ ยังมีอีกหลายภารกิจที่เขาต้องทำ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงก็คือภารกิจต่อสังคม ที่ถือเป็น "ดีเอ็นเอ" ของสตาร์บัคส์มาจนถึงทุกวันนี้