ประกันสังคม พร้อมจ่ายเงินเยียวยาให้คนว่างงานจากเหตุโควิด-19 เช็กเลยต้องทำอะไรบ้าง
นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่กรุงเทพมหานครประกาศสั่งปิดสถานที่ และสถานประกอบกิจการชั่วคราวจำนวน 35 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.-9 พ.ค. 64 เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ลูกจ้าง รวมถึงผู้ประกันตน ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งให้สำนักงานประกันสังคมเร่งเยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันตน พร้อมให้บริการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน ตามประกาศ "กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันเนื่องจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2564 ให้ได้รับสิทธิเต็มที่
นายทศพล กล่าวถึงคุณสมบัติผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จะขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ต้องส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ใน 15 เดือน จึงจะเกิดสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน แต่ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างให้หยุดงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ และลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแค่รวมกันเกิน 90 วัน ช่องทางการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุโควิด-19 ในครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบดำเนินการขอรับประโยชน์ทดแทนตามช่องทาง ดังนี้
ผู้ประกันตน
- มีหน้าที่กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7 สามารถ Download แบบได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th) แล้วนำส่งให้นายจ้าง ขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ แบบเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง
นายจ้าง
- มีหน้าที่ดำเนินการยื่นขอรับสิทธิว่างงานในระบบ e-Service ดังนี้
- 1. บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th โดยต้องบันทึกข้อมูลลูกจ้าง ตามแบบ สปส. 2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว
- 2. รวบรวมแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) ของลูกจ้าง ที่ได้บันทึกแล้วในระบบ e-Service บน www.sso.go.th นำส่งมายังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ ลงทะเบียนภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service
นายทศพล ย้ำว่า การขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุโควิด-19 นายจ้าง และลูกจ้าง ผู้ประกันตนต้องดำเนินการตาม ข้อ 1 และ ข้อ 2 และขอย้ำว่าลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานประกันสังคม
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง