เปิด 10 แรงงานไทย ผ่านธุรกิจดาวรุ่งพุ่งหลาวปี 2564
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก เมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อพฤติกรรมคน สภาพสังคม เศรษฐกิจ และธุรกิจ ที่ต้องเผชิญกับความท้าท้ายครั้งใหญ่และต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดนั้น
ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลวิจัย 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งประจำปี 2564 โดยธุรกิจดาวรุ่งอันดับ 1 และอันดับ 2 ได้แก่ ธุรกิจบริการทางการแพทย์ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของสองธุรกิจดังกล่าว คือพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของโรคโควิด-19 การใส่ใจ ดูแลสุขภาพ และการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ e-commerce เติบโตตามไปด้วย เช่น ธุรกิจแพลตฟอร์ม ธุรกิจการทำคอนเทนต์ และ Youtuber
ผลวิจัยดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจขับเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล (digital transformation) มากขึ้น ทั้งการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีที่ช่วยในการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล เทคโนโลยีการชำระเงิน หรือแม้กระทั่งการที่ธุรกิจ street food และธุรกิจตู้หยอดเหรียญเติบโตขึ้นก็สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เช่นกัน
ขณะเดียวกัน การก้าวเข้าสู่ digital transformation ทำให้เกิดความต้องการแรงงานกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการแรงงานของ JobsDB ในปีนี้ พบว่า อันดับสายงานที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุดคือกลุ่มไอที
แนวโน้มดังกล่าวทำให้อัตราผลตอบแทนเงินเดือนของกลุ่มสายงานเทคโนโลยีสูงเป็นอันดับ 1 โดยมีฐานเงินเดือนเริ่มต้นตั้งแต่ 23,225 - 41,122 บาท1 รวมทั้งกลุ่มสายงานโทรคมนาคมและสายงานธนาคารที่ขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 สะท้อนให้เห็นการเติบโตของสองสายงานที่เกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทักษะใหม่ที่คนทำงานต้องมี แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ hard skill ได้แก่ ความรู้ด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านภาษา และการวิเคราะห์ข้อมูล soft skill ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน meta skill ได้แก่ การรู้จักหรือเข้าใจตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ และความยืดหยุ่นทางความคิด
การประชุมเศรษฐกิจโลก (WEF2020) ระบุว่า อาชีพที่มีความต้องการมากขึ้น อาทิ Data Analysts and Scientists, AI and Machine Learning Specialists, Big Data Specialists และ Digital Marketing and Strategy Specialists ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่จำเป็นต้องอาศัยกำลังแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีเป็นหลัก ขณะที่ปัจจุบันแรงงานไทยซึ่งมีทักษะด้านดิจิทัลมีเพียง 54.9% อยู่ในอันดับ 89 จากการจัดอันดับใน 140 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน และยกระดับการศึกษาโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเครื่องมือสื่อสารมาใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานสำหรับรองรับการทำงานในอนาคต รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย