เปิด 3 ขั้นตอน เลือกกองทุนฉบับมือใหม่ให้ถูกใจ
แนะวิธีเลือกกองทุนฉบับมือใหม่ ให้ถูกใจเพียงแค่ศึกษาและอ่านข้อมูลเพิ่มเติมก็จะช่วยให้นักลงทุนมือใหม่ตัดสินใจง่ายขึ้น
หากเราอยากที่จะลงทุน แต่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนน้อย แถมมีเงินทุนไม่มากนัก และยังไม่มีเวลามอนิเตอร์ข้อมูลตลอดเวลา กองทุนรวม ถือเป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่จะช่วยต่อยอดเงินออมสร้างผลตอบแทนกลับมาให้เราได้ แต่รู้หรือไม่การเลือกกองทุนนั้นให้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของเรานั้นมีวิธีอย่างไร โดยเฉพาะมือใหม่ที่จะต้องอ่านข้อมูลและทำการบ้านก่อนเลือกกองทุนที่มั่นคงและถูกใจให้กับตนเอง Sanook Money มีข้อมูลดีๆ ที่จะช่วยให้นักลงทุนมือใหม่จับสัญญาณและเลือกกองทุนได้ง่ายขึ้นมาฝากกัน
เว็บไซต์ setinvestnow ระบุว่า Mutual Fund หรือ กองทุน คือ การระดมเงินลงทุนจากคนจำนวนมาก และนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เพื่อตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา โดยเงินที่ได้รับนั้นจะมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามนโยบายของแต่ละกองทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่งอกเงย แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนเงินที่ลงทุนนั่นเอง
โดยมือใหม่สามารถเริ่มลงทุนกองทุนรวมอย่างมั่นใจได้ด้วยเหตุผลดังนี้
- มี “มืออาชีพ” ดูแล บริหารจัดการกองทุนตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้
- มีการกระจายการลงทุน ช่วยลดความเสี่ยงได้
- มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เลือกได้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลตอบแทนที่คาดหวัง
- มีสภาพคล่องสูง สามารถขายคืนเพื่อรับเป็นเงินสดได้ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
- เพราะรายได้ของกองทุนรวม “ไม่เสียภาษีเงินได้” เราจึงได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมเงินลงทุนในกองทุนรวมบางประเภท ยังนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ในส่วนของผลตอบแทนนั้น จะอยู่ในรูปแบบ ส่วนต่างกำไร (Capital Gain) หรือ เงินปันผล (Dividend) โดยผู้ลงทุนจะได้รับส่วนต่างกำไรก็ต่อเมื่อขายคืนหน่วยลงทุนได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา เพราะกองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) เพิ่มมาจากการลงทุนนั่นเอง ในขณะที่ หากลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ก็จะได้รับเงินปันผลซึ่งจะคำนวณตาม อัตราการจ่ายเงินปันผล คูณกับ จำนวนหน่วยลงทุนที่เราเป็นเจ้าของนั่นเอง
ขั้นตอนการเลือกกองทุนฉบับมือใหม่นั้นมี 3 ขั้นตอนดังนี้
1. คัดกรองกองทุนรวม
เริ่มจากวิธีง่ายๆ ด้วยการระบุประเภทและนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมที่ตรงกับเป้าหมายการลงทุนของเรา จากนั้นก็กำหนดเงื่อนไขการคัดกรองกองทุน เช่น ชื่อ บลจ. การจ่ายเงินปันผล ระดับความเสี่ยง จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ เป็นต้น โดยระบบจะคัดกรองและแสดงเฉพาะรายชื่อกองทุนรวมที่ตรงตามเงื่อนไขตามที่เราต้องการ ที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกของกองทุนรวมเหล่านั้นต่อ ทดลองคัดกรองกองทุนรวมได้ที่ www.aimc.or.th และ www.morningstarthailand.com
2. เจาะลึกข้อมูลในหนังสือชี้ชวนฯ และ Fund Fact Sheet
เมื่อเราได้กองทุนรวมที่ตรงตามความต้องการแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของกองทุนรวมนั้นๆ โดยละเอียด จาก “หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน” และ “Fund Fact Sheet” เพราะเป็นเหมือน “คัมภีร์” ที่บอกรายละเอียดทุกอย่างของกองทุนรวมนั้นๆ ซึ่งเราสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ บลจ. ที่เสนอขายกองทุนนั่นเอง
3. วิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อเลือกกองทุนรวมที่ถูกใจได้แล้ว ขอให้สละเวลาเพิ่มอีกนิดในการวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของเรา เช่น
ขนาดของกองทุนรวม
-
หากมีสินทรัพย์น้อยกว่า 100 ล้านบาท อาจถือว่ามีขนาดเล็กเกินไป เพราะเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งหมดกับขนาดของสินทรัพย์แล้ว จะพบว่ามีสัดส่วนที่สูง และอาจจะไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scales) ส่งผลให้เรามีต้นทุนสูงขึ้นด้วย แต่หากกองทุนรวมมีสินทรัพย์มากกว่า 15,000 ล้านบาทขึ้นไป จะถือว่ามีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของตลาดการเงินไทย ดังนั้น จึงควรพิจารณาถึงความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน
-
บริการที่เสนอให้นักลงทุน ดูว่า บลจ. ที่เป็นผู้บริหารกองทุนรวม มีบริการที่ตรงตามความต้องการหรือไม่ เช่น บริการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต บริการวางแผนการลงทุน เป็นต้น
สุดท้ายนี้ก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุน อย่าลืม...ทำความรู้จักกับตัวเองให้แน่แท้เสียก่อนว่า รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน เข้ามาลงทุนเพื่ออะไร เข้าใจสภาวะการลงทุนดีพอหรือไม่ และต้องติดตามผลด้วยว่า กองทุนรวมที่เราลงทุนมีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร โดยเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) หรือผลการดำเนินงานของกองทุนที่มีนโยบายเดียวกันของ บลจ. อื่นด้วย