MRR MOR MLR คืออะไร คิดดอกเบี้ยบ้านอย่างไร
คนขอสินเชื่อบ้านต้องรู้จัก ดอกเบี้ย MRR, MOR, MLR พร้อมวิธีคำนวณดอกเบี้ย และแนะนำเครื่องมือคำนวณดอกเบี้ยสุดง่าย
ใครที่กำลังตัดสินใจซื้อคอนโด บ้านหลังแรก ก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า MRR, MOR, MLR กันบ้างใช่มั้ยล่ะ แต่รู้หรือไม่ว่า MRR MOR MLR นั้นคืออะไร มีผลต่อการกู้ซื้อบ้านมากน้อยแค่ไหน Sanook Money มีข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีฯ มาฝากกัน
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุ ดอกเบี้ยบ้าน (Home Loan) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งจะใช้วิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) ที่มักอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ธนาคารคิดจากลูกค้า ได้แก่
-
Minimum Loan Rate (MLR) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบกำหนดระยะเวลา โดยต้องมีประวัติการเงินที่ดีและมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้ที่มากพอ
-
Minimum Overdraft Rate (MOR) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือการเบิกเงินทางโอดี ซึ่งจะประเมินจากคุณสมบัติของผู้กู้ เช่น หลักทรัพย์ค้ำประกัน
-
Minimum Retail Rate (MRR) คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เรียกง่ายๆ ว่าคนทั่วไปมีโอกาสผ่อนได้ง่ายกว่าอัตราดอกเบี้ยอื่นแต่มีความผันผวนและความเสี่ยงสูงพอสมควร
โดยทั่วไป อัตราดอกเบี้ย MRR จะสูงกว่า MOR และอัตราดอกเบี้ย MOR จะสูงกว่า MLR ซึ่งส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ย MRR และ MLR เป็นตัวสะท้อนระดับความเสี่ยงที่ต่างกันระหว่างลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย ซึ่งสามารถศึกษาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง MRR MOR และ MRR ได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย
วิธีคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน
สมมติว่า เราต้องการขอสินเชื่อบ้านในวงเงินกู้ 1,500,000 บาท / MRR 7%
ธนาคารกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.45% ต่อปี = เราต้องจ่ายดอกเบี้ย 81,300 ต่อปี (ในสามปีแรก)
พอปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย = MRR-0.25% มันหมายความยังไงกันนะ?
ดังนั้นในปีที่ 4 เราจะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ MRR 7% - 0.25% = 6.75% คืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของปีที่ 4 เป็นต้นไป
6.75% ของ 1,500,000 บาท = เสียดอกเบี้ย 101,250 บาทต่อปีหรือหากใครไม่แน่ใจ ปัจจุบันมีเครื่องมือออนไลน์ที่จะคอยช่วยคำนวณดอกเบี้ยการขอสินเชื่อบ้าน เช่น เว็บไซต์ thaiinterest ที่เพียงกรอกตัวเลขลงไปแล้วกด “คำนวณ” เครื่องมือนี้ก็จะคำนวณมาให้เราเสร็จสรรพ