"ขุมทรัพย์" ที่รออยู่เบื้องหน้า ยอมขาดทุนวันนี้เพื่อ "อนาคต"
นานทีซีอีโอฝีมือเก๋าแห่งแกรมมี่ จะสละเวลามานั่งโต๊ะแถลงข่าวด้วยตัวเอง "ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม" ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดบทสนทนาอย่างอารมณ์ดีว่าอยากคุยให้หุ้นขึ้นเสียหน่อย ก่อนจะเริ่มต้นเล่าถึงธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจว่าบริษัทกำลังทำอะไร
หลังจากตั้งแต่ปีที่แล้วที่บริษัทอยู่ในช่วงขยายการลงทุน โดยเฉพาะเม็ดเงินในการซื้อคอนเทนต์จากธุรกิจใหม่ "จีเอ็มเอ็ม แซท" ที่ส่งให้รายได้ปีก่อนโตลดลง และถือเป็นการขาดทุนในรอบ 30 ปีตั้งแต่ตั้งบริษัท
ปัจจุบันธุรกิจใหม่ของจีเอ็มเอ็มฯแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิกผ่านทีวีดาวเทียม (เพย์ทีวี) โฮมช็อปปิ้ง และดิจิทัลทีวี ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าร่วมประมูลดิจิทัลทีวีประมาณสิงหาคมนี้
ธุรกิจที่ "อากู๋" หมายมั่นปั้นมือที่สุดหนีไม่พ้น "เพย์ทีวี" ที่อยู่ระหว่างการลงทุน ทำให้รายได้ปีก่อนขาดทุน 300 ล้านบาท ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1-2 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มกลับมาทำกำไรได้ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป
การยอมขาดทุนในวันนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าธุรกิจดังกล่าวจะเป็น "อนาคต" ของบริษัท
หากมองก้าวย่างของแกรมมี่วันนี้ คือการก้าวขึ้นสู่ "ยุคใหม่" จาก "โอกาสใหม่" ที่รออยู่เบื้องหน้า
จากธุรกิจเพลง ธุรกิจสื่อ ธุรกิจ
อีเวนต์ ธุรกิจภาพยนตร์ ฯลฯ สู่ยุคของ "ดิจิทัล" แบบเต็มตัว
"อากู๋" แจงว่า ธุรกิจเพย์ทีวีปีนี้ยังต้องลงทุนอีก 1 พันล้านบาทซื้อคอนเทนต์
ต่างประเทศมาต่อยอด ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ฟรีทูแอร์ 11 ช่อง และช่องเพย์ทีวี ที่เตรียมเช่าช่องสัญญาณไทยคม 6 เพิ่มทั้งระบบเคยูแบนด์ และซีแบนด์ รองรับการทำธุรกิจเพย์ทีวีในอนาคต โดยคาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้จะมีช่องเพย์ทีวี 32 ช่อง แบ่งเป็นช่องระบบความละเอียดสูง (HD) 6 ช่อง
"ปีก่อนลงทุนซื้อคอนเทนต์ไปกว่า 1 พันล้าน แต่ยังไม่สามารถเปิดบริการเพย์ทีวีได้ เนื่องจากใบอนุญาตยังไม่พร้อม ขณะที่ปีนี้ทุกอย่างพร้อมแล้ว เตรียมลงทุนเพิ่มอีก 1 พันล้าน และจะเดินหน้าทำตลาดเพย์ทีวีเต็มรูปแบบในปีหน้า"
เป็นการประกาศว่า "ปีนี้และปีหน้าแกรมมี่พร้อมสำแดงฤทธิ์บนตลาดเพย์ทีวีแล้ว"
ถือเป็นอีกครั้งที่ซีอีโอสุดเก๋าผู้ชื่นชอบในการ "บุกเบิก" ธุรกิจใหม่ ๆ อยู่เสมอ ประกาศความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมขนาดนี้
เขาชี้ว่า เดิมธุรกิจหลักของแกรมมี่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก เพราะใช้แรงกาย แรงสมองเป็นหลัก แต่เมื่อต้องการสร้างแพลตฟอร์มในกลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างบ้านให้กับคอนเทนต์แกรมมี่ จึงต้องลงทุนเพิ่ม
"คู่แข่งไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นให้เราสร้างแพลตฟอร์ม แต่เป็นเป้าหมายที่วางไว้แต่แรก ถือเป็นธุรกิจที่รอคอยมานานถึง 15 ปีในฐานะเจ้าของคอนเทนต์ เราเตรียมความพร้อมมาต่อเนื่องเพื่อรอโอกาสนี้"
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อากู๋ วาง 3 กลยุทธ์หลักเพื่อก้าวไปข้างหน้า
ลดราคาขายกล่องรับสัญญาณลง โดยรุ่นสมาร์ทจะอยู่ที่ 1,990 บาท พร้อมบริการเพย์ทีวี 1 ปี และกล่องรุ่นเอชดี 2,990 บาท พร้อมบริการเพย์ทีวี 1 ปี ร่วมกับพันธมิตรอย่างเอไอเอส เพิ่มช่องทางการให้บริการ และ และสุดท้ายวางตัวเองเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ ขายคอนเทนต์ให้แก่ผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นไปบริหารสิทธิ์เอง
เขาเชื่อมั่นว่า ด้วยแนวทางนี้จะทำให้สมาชิกเพย์ทีวีเพิ่มเป็น 4 แสนรายในสิ้นปี 1 แสนรายในครึ่งปีแรก
ส่วนแผนของ 2 ธุรกิจใหม่ "โฮมช็อปปิ้ง" ที่เปิดตัวเมื่อมิ.ย.ปีก่อน คาดว่าจะคุ้มทุนใน 2 ปี ส่วน "ดิจิทัลทีวี" ก็เตรียมเข้าร่วมประมูล 3 ช่อง ได้แก่ ช่องเอชดี ช่องเอสดี และช่องเด็กที่จะร่วมทุนกับพันธมิตร
เป้าหมายแกรมมี่ 3 ปีจากนี้ (2557-2559) หมายมั่นปั้นมือกับธุรกิจใหม่ทั้ง 3 ตัวอย่างมากว่าจะผลักดันให้รายได้บริษัทพุ่งไปถึง 1 หมื่นล้านบาท
แบ่งเป็นดิจิทัลทีวี 3-4 พันล้าน เพย์ทีวี 3-4 พันล้าน และโฮมช็อปปิ้ง 2 พันล้าน นั่นหมายถึงรายได้ 2 หมื่นล้านบาท
เท่ากับว่ารายได้จากธุรกิจใหม่จะสูงถึง 50% หากทำได้จริงเท่ากับว่า "กลุ่มธุรกิจใหม่" ใช้เวลาไม่กี่ปีสามารถทำรายได้เท่ากับธุรกิจดั้งเดิมที่ใช้เวลาสั่งสมรายได้การเติบโตมาอย่างยาวนาน
"ถ้าทำได้ตามแผนที่วางไว้ เท่ากับว่าธุรกิจบรอดแคสติ้งของเราจะครอบคลุมทั้งแพลตฟอร์ม ดิจิทัลทีวี เพย์ทีวี และการขายคอนเทนต์ และมีแผนต่อยอดไปสู่การผลิตโลคอลคอนเทนต์
เพื่อขายไปยังต่างประเทศอีกด้วย"
นั่นจะทำให้ "อาณาจักรแกรมมี่" ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ซีอีโอแห่งแกรมมี่กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับธุรกิจเก่าที่มี 6 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจเพลง ดิจิทัล สื่อ ภาพยนตร์ จัดกิจกรรมทางการตลาดและ
เบิร์ดแลนด์ แอนิเมชั่น ยังรักษาการเติบโตไว้อย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจดิจิทัลจะเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงสุด จากเทคโนโลยี 3G ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น